คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) รายงานว่าก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยสู่บรรยากาศโลกนั้นมาจากการตัดไม้ทำลายป่าถึงร้อยละ 20 หากสามารถลดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ ทำลายป่าได้ ก็จะช่วยลดปริมาณของก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อย อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) จึงได้มีการริเริ่มกลไก REDD ขึ้นมา
REDD ย่อมาจาก Reducing Emission from Deforestation and Degradation in Developing Countries หรือการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีแนวคิดว่าการดูแลรักษาป่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของโลก ดังนั้นผู้ที่ดูแลรักษาป่า (ชาวบ้าน บริษัทปลูกป่าไม้) ควรจะได้รับค่าตอบแทนเพื่อเป็นกลไกที่สร้างแรงจูงใจเชิงบวกในการรักษาป่า โดยโครงการจะประเมินค่าคาร์บอนที่กักเก็บในป่าออกมาเป็นมูลค่าทางการเงินและนำเงินนั้นไปมอบให้กับชุมชนต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสร้างแรงจูงใจในการรักษาป่าและขจัดความยากจนในขณะเดียวกัน
ถึงแม้จะเป็นหลักการที่ดี อย่างไรก็ตามในทางปฎิบัติยังมีความคลุมเครือ ปัญหา อุปสรรคอีกมาก ยังคงต้องมีการเจรจา ถกเถียง อภิปรายผลลัพธ์และผลกระทบเชิงลบที่ตามมาอีกมาก ซึ่งนักวิชาการและเอ็นจีโอต่างมีข้อกังวลว่ากลไกนี้หากมีการนำมาใช้จริงจะส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ในผืนป่า เพราะเมื่อเข้าโครงการแล้วการดูแลรักษาป่าจะเข้มงวดยิ่งขึ้น ส่งผลต่อสิทธิ วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านที่อาศัยผลผลิตจากป่าในการดำรงชีพ และอาจเกิดความขัดแย้งระหว่าง ชุมชนกับชุมชน ชุมชนกับบริษัทอุตสาหกรรมป่าไม้ รวมทั้งรัฐกับชุมชนที่รุนแรงขึ้น
อาเซียนยังคงเหลือผืนป่าประมาณร้อยละ 16 ของพื้นที่ป่าเขตร้อนทั่วโลก ในขณะที่ผืนป่าเหล่านี้ไม่ได้มีแต่ความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์อย่างเดียว แต่มีชนพื้นเมืองที่อยู่ร่วมและอาศัยพึ่งพิง เก็บเกี่ยวความหลากหลายทางชีวภาพจากป่าไม้ด้วย ดังนั้นโครงการ REDD อาจจะเป็นไปได้ทั้งกลไกที่ก่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน หรือจะเป็นกลไกเบียดขับ ละเมิดสิทธิคนพื้นเมืองที่อาศัยในป่าก็เป็นได้ ดังนั้นผู้เขียนคิดว่าประสบการณ์จากโครงการนำร่องที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ น่าจะเป็นบทเรียนให้กับประเทศกำลังพัฒนาประเทศอื่นได้เป็นอย่างดี ดังกรณีศึกษาต่อไปนี้
เขตป่าสงวนแห่งชาติสีมา (Seima Protection Forest) ประเทศกัมพูชาได้ทำให้สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งสัมปทานไม้ในอดีตจนป่าเสื่อมโทรม แต่หลังจากที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) สนับสนุนให้ป่าสงวนแห่งนี้เข้าร่วมโครงการ REDD แล้ว ป่าแห่งนี้กลับกลายเป็นผืนป่าอันอุดมมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้เขตป่าสงวนแห่งชาติสีมาจะยังคงเอื้อประโยชน์แก่ชาวบ้านในพื้นที่ที่เก็บหาของป่าและล่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารและแก่เกษตรกรในชนเผ่าบุนอง ซึ่งดำรงชีพในป่ามาเป็นระยะเวลาหลายชั่วอายุคน ให้ยังคงสามารถเข้าออกพื้นที่ป่าสงวนแห่งใหม่แห่งนี้ได้ต่อไป (1)
เขตป่าสงวนแห่งชาติสีมา (Seima Protection Forest)ประเทศกัมพูชา
เครือข่ายเพื่อความเท่าเทียมในนโยบายภูมิอากาศ-ป่าไม้ (2) รายงานว่า บนเกาะพานาย (Panay Island) ของประเทศฟิลิปปินส์ เจ้าหน้าที่รัฐบาลซึ่งเป็นคนที่ชาวบ้านไว้วางใจได้กระตุ้นให้ชุมชนปลูกต้นไม้ในพื้นที่แห่งหนึ่งเพื่อเข้าร่วมโครงการ REDD แต่ชุมชนไม่ได้รับการบอกเล่าว่าพื้นที่แห่งนี้จะถูกประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ซึ่งหลังจากนี้ชาวบ้านจะถูกจำกัดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากป่าไม้
จังหวัดเตราย (Terai) ของเนปาลที่กำลังนำร่อง REDD+ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าและป่าเสื่อมโทรมสูงมาก แต่มีพื้นที่เพียงร้อยละ 2 ที่ส่งมอบให้ชุมชนบริหารจัดการที่เหลืออีก 98 รัฐบาลเป็นผู้จัดการโดยอ้างว่าป่าไม้เป็นสมบัติของชาติไม่ควรตกเป็นของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ในทางกลับกันบางหมู่บ้านที่สามารถฟื้นฟู บริหาร และหากินกับป่าได้อย่างยั่งยืนมาแล้วหลายปีแล้วกลับไม่ได้เข้าร่วมโครงการ REDD+ หรือบางหมู่บ้านก็ถูกกีดกันออกจาก “กลุ่มผู้ใช้ป่าชุมชน” จึงไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก REDD+ ยังไม่นับปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของที่ดินที่เรื้อรังมานานและความไม่ชัดเจนของกฏหมายในเรื่องนี้ ทำให้ชาวบ้านไม่อยากลงแรงฟื้นฟูเพราะมองว่าเขาอาจสูญเสียที่ดินไปเมื่อฟื้นฟูได้แล้ว นอกจากนี้ผู้นำบางคนเอาป่าชุมชนที่เคยเสื่อมโทรมแต่ชาวบ้านฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ไปแอบอ้างว่าเป็นพื้นที่ป่าส่วนตัว ปัจจุบันมีคดีพิพาททำนองนี้ 14 คดีที่ค้างอยู่ในกระบวนการยุติธรรมของเนปาล บางคดีไปถึงชั้นศาลฎีกา (3)
ย้อนกลับมาดูในประเทศไทยบ้าง เครือข่ายอนุรักษ์ช้างในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรีเป็นพื้นที่ฟื้นฟูป่าซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับเงินตอบแทนจากกองทุนอนุรักษ์ธรรมชาติและจากศูนย์อนุบาลช้างในการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ นอกจากนั้นยังมีโครงการป่าชุมชนที่บ้านป่าเป้า จังหวัดลำพูนที่ได้ประโยชน์อื่นๆ จากโครงการ ได้แก่ ลดการเกิดน้ำท่วม รักษาระดับน้ำ (water table) โครงการจัดการฝึกอบรมให้กับชาวบ้านและสร้างโรงเรียนให้กับชุมชน
จากกรณีศึกษาทั้ง 4 จะเห็นได้ว่าการดำเนินการโครงการ REDD ก่อให้เกิดทั้งมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ แต่หากการบริหารจัดการที่ขาดการพิจารณามิติสิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วม ความเท่าเทียมและความเป็นธรรมของกลุ่มผู้ใช้ป่าชุมชนแล้ว ก่อให้เกิดความขัดแย้งและขยายช่องว่างความไม่เท่าเทียม ความไม่เป็นธรรมในสังคมเพิ่มขึ้นไปอีก
ดังนั้นมีความท้าทายหลายประการที่ต้องก้าวข้ามไปให้ได้ อาทิ ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมสำหรับโครงการดังกล่าว การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐและชุมชนท้องถิ่น ประเด็นด้านเทคนิควิธีการซึ่งประกอบด้วยคำนิยามของป่า วิธีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างแรงจูงใจ เป็นต้น
ในท้ายที่สุดแล้วการแก้ไขปัญหาการทำลายป่า การฟื้นฟูป่า เป็นเรื่องที่อาเซียนจะต้องทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีกลไก REDD หรือไม่ก็ตาม หากมีมาตรการสนับสนุนจาก REDD ก็เป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่ไปทำลายเป้าหมายหลัก คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศแหล่งกำเนิด เพื่อความอยู่รอดร่วมกันของโลก
*ที่มา http://www.aseangreenhub.in.th/envinat-ac/th/savetheworldsection/108-savetheworld-3
อ้างอิง
- (1) http://www.wcsthailand.org/main/news/new-parkcambodia
- (2) http://www.recoftc.org/sites/default/files/old/uploads/wysiwyg/docs/REDD...
- (3) http://www.greenworld.or.th/columnist/ecosaveworld/712
- http://manojonlinenow.blogspot.com/
- http://www.wcscambodia.org/AboutUs/WCSCambodiaLatestNews/tabid/8496/arti...
- http://orangutanfoundation.wildlifedirect.org/tag/orangutan-foundation/