ชาวเปือจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อลูกหลาน

“ถ้าไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง อนาคตคนเปืออาจขัดแย้งกันได้”

          เป็นความเห็นตรงกันของแกนนำชุมชน ที่มีต่อสถานการณ์ที่ดำรงอยู่ในตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน หลังจากที่ได้มีการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำเปือ เพื่อใช้เป็นเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาที่เกิดขึ้น

          จากสภาพข้อเท็จจริงในพื้นที่ มีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้นทุกปี สาเหตุสำคัญมาจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และการทำไร่หมุนเวียน จนนำไปสู่ความขัดแย้งในเรื่องที่ดินทำกิน ในปี 2541 ผู้นำชุมชนจึงร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สำรวจข้อมูลที่ดินทำกินและขอความร่วมมือเกษตรกรในการขอคืนพื้นที่ที่มีการบุกรุกป่า แต่สถานการณ์ปลูกพืชเชิงเดี่ยวและเกษตรพันธสัญญาที่ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดของนายทุนภายนอก จน ตำบลเปือได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ “ข้าวโพดแห่งชาติ” จึงยากที่จะหยุดการบุกรุกที่ดินในเขตป่าเพื่อทำการเพาะปลูกได้ ทำให้ชาวบ้านอยู่ในภาวะที่ต้องพึ่งพานายทุนอย่างครบวงจร มิหนำยังเกิดความบาดหมางระหว่างคนในพื้นที่ด้วยกัน 

          ไม่เพียงการบุกรุกป่าเท่านั้นแต่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวยังมีการใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น เกษตรกรเจ็บป่วยและระบบนิเวศน์สูญเสีย รวมทั้งยังทำให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

          มนตรี เชี่ยวสุวรรณ ลูกหลานชาวเปือ เล่าว่า “ วัน ๆ เราไม่ต้องทำอะไรแล้ว เดี๋ยวหน่วยงานนี้เข้ามา หน่วยงานนั้นเข้ามา จึงมีความคิดว่า ชาวบ้านต้องพัฒนาให้เป็นทิศทางเดียวกันที่ตรงกับความต้องการของเรา จึงชวนแกนนำชุมชนที่มีจิตอาสาก่อตั้งเป็นกลุ่มผู้ก่อการดีโดยมีชาวบ้าน ภาคีพัฒนาภาครัฐทุกองค์กรร่วมด้วย  เริ่มจากการนำข้อมูลในตำบลมาดูร่วมกัน พบว่าเรามีทั้งทุนเดิมและภูมิปัญญาร่วมทั้งมีปัญหาหลากหลาย ทั้งการจัดการทรัพยากร อาชีพรายได้ วิถีวัฒนธรรม ภัยธรรมชาติ ระบบการเกษตร ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ซึ่งการจัดการข้อมูลที่เป็นระบบทำให้เกิดการเชื่อมโยงและเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งตำบล ดังนั้นระบบข้อมูลก็เหมือนไม้เสียบลูกชิ้น ที่เชื่อมร้อยทุกปัญหามาสู่การวางแผนในการแก้ร่วมกัน”

       3   แกนนำชุมชนตำเปือเล่าถึงขั้นตอนและกระบวนการในการแก้ปัญหาให้ฟังว่า ได้เริ่มจากสภาองค์กรชุมชนตำบลเปือ ร่วมกับผู้ก่อการดีจัดทำ “ข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติตำบลเปือ” ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเด็นการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่น ด้วยการสร้างคนและเชื่อมโยงกลไกองค์กร ชุมชน หน่วยงาน ท้องถิ่น ท้องที่/กรรมการหมู่บ้าน ทหาร ป่าไม้ บนพื้นฐาน “จิตใจรักถิ่นฐาน” สร้างความเข้าใจร่วม มีความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และมองปัญหาร่วม ตลอดจนการเสียสละของผู้นำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานที่สำคัญในการนำไปสู่เป้าหมายในการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

     4     

การจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นตำบลเปือได้เริ่มตั้งแต่ปี 2549 มีการวิเคราะห์ปัญหา โดยใช้ระบบ GIS/GPS เป็นเครื่องมือในการจัดทำข้อมูล พื้นที่ใช้ประโยชน์ พื้นที่ป่า พื้นที่ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ข้อมูลจากการทำแผนที่ตำบลรายแปลงและขอบเขตตำบล ทั้งพื้นที่ สปก. เอกสารสิทธิ์โฉนด (โยงกับแผนที่ภาษีของอบต.) ที่ดินประเภทอื่น ๆ เช่น ที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ที่ดินทับซ้อนกับป่าชุมชนเป็นต้น ในการสำรวจข้อมูล บูรณาการกับพื้นที่แนวเขตท้องที่และท้องถิ่นของอำเภอเขตด้วย การนำทีมร่วมกันสำรวจพร้อมกันทั้งหมดโดยไม่มีงบประมาณ แต่อาศัยความเสียสละและจิตสาธารณะเพื่อสำรวจแนวเขตว่าพื้นที่ใดเป็นของชาวบ้าน ของนายทุนหรือเป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลตำบลสู่การวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่แบบมีส่วนร่วม

          จากนั้นได้นำข้อมูลไปสู่การจัดทำขอบเขตป่า ที่ดินทำกิน และพัฒนากฏระเบียบกติกาในการจัดการทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่า ขยะ ฯลฯ และให้ชุมชนท้องถิ่นร่วมกันยกร่างข้อบัญญัติ แล้วให้สภาองค์กรชุมชนตำบล นำเสนอข้อบัญญัติตำบล ต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อปรึกษาหารือและปรับปรุงแก้ไขร่างข้อบัญญัติให้สมบูรณ์

          ขั้นตอนที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การคืนข้อมูลให้ชุมชน โดยจะเชิญภาคีหน่วยงานของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นสักขีพยานด้วย เช่น ทหาร ตำรวจป่าไม้ ฝ่ายปกครองเป็นต้น ทำให้เกิดการพูดคุยร่วมกันระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานต่าง ๆ การจัดทำข้อบัญญัติจึงสามารถทำตามแผนที่ได้วางไว้ รวมทั้งยังมีการออกแบบหลักสูตรการทำงานกับผู้ร้องเรียน (ผู้เดือดร้อน) และวางแผนการทำงานโดยวิธี “ 1 หมู่บ้าน : 1 จิ๊กซอร์” คือ 1 หมู่บ้านสำเร็จ จากนั้นจึงทำความเข้าใจกับพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อขยายไปยังหมู่บ้านอื่นต่อไป

          หลังจากที่ได้จัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นแล้ว ก็ได้จัดทำแผนพัฒนาอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การอยู่ดี กินดี ของคนในพื้นที่และให้สามารถรักษาผืนป่าไว้ให้ลูกหลาน เช่น การจัดทำโครงการนำร่องเพื่อเพิ่มพูนความมั่นคงทางอาหารให้แก่เกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่าย มีการทดลองทำข้าวไร่ โดยมีเมล็ดพันธุ์เป็นของตนเอง รวมทั้งการปลูกส้มสุ่นโข่ควบคู่กับจัดระบบชลประทานด้วยเครื่องตะบันน้ำ

          สร้างระบบการดูแลจัดการทรัพยากรโดยชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ผ่านแนวคิด “พ่อ-แม่อุปภัมภ์” เนื่องจากที่ผ่านมา จังหวัดน่านมักจะได้รับการกล่าวขานว่ามีส่วนในการทำลายป่า ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน เกิดปัญหาน้ำท่วม/น้ำแล้ง จึงเกิดความคิดเรื่องระบบพ่อแม่อุปภัมภ์ โดยการจับคู่ระหว่างคนในเมืองที่ต้องการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ กับเกษตรกรที่ต้องการปลูกแลดูแลรักษาป่า มีระบบการรายงานผลการปลูกป่า การติดตาม/เยี่ยมเยียน เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างคนต้นน้ำกับปลายน้ำ

          เนื่องจากประชาคมอาเซียนซึ่งกำลังจะเปิดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2558 ตำบลเปือเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สวยงาม อีกทั้งยังเป็นเส้นผ่านทางไปยังชายแดน เกิดความต้องการกว้านซื้อที่ดินจากนายทุนทั้งในและนอกพื้น ส่งผลให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น จากไร่ 100,000 บาท ปัจจุบันเพิ่มเป็นไร่ละ 1,000,000 บาท โดยเฉพาะในพื้นที่ 2 หมู่บ้าน คือ บ้านน้ำมืด และบ้านห้วยพ่าน ซึ่งมีแนวโน้มว่าชาวบ้านจะขายที่ดินให้กับนายทุนเพื่อนำไปก่อสร้างรีสอร์ทเพิ่มมากขึ้น จากสถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้ที่ดินหลุดมือเป็นของนายทุนได้ ดังนั้น ชาวบ้านจึงได้ร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ผลักดันแนวทางในการจัดตั้ง “ธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชน” เพื่อเป็นหลักประกันให้ชาวบ้านในพื้นที่สามารถรักษาที่ดินทำกินเพื่อตกทอดถึงรุ่นลูกหลาน

          นอกจากนี้นัยยะแห่งการพัฒนาที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวตำบลเปือก็คือ “การพัฒนาจะต้องต่อเนื่อง” ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้เกิดจิตสำนึกและหวงแหนรักบ้านของตนเอง จึงมีแผนพัฒนาเยาวชน เช่น การร่วมมือกับโรงเรียนจัดค่ายเยาวชนภูมิสารสนเทศส่งเสริมเด็กใช้ข้อมูลดาวเทียมเป็น การเปิดโรงเรียนธรรมชาติ ตลอดจนการนำเรื่องราวต่าง ๆ ในตำบลไปบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นต้น ซึ่งแนวทางเช่นนี้จะทำให้การพัฒนามีความต่อเนื่องและไม่มั่นคง

        2  ซึ่งเป็นการเดินตามและน้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวปฏิบัติที่ว่า “การทำงานใหญ่ ๆ ทุกอย่างต้องการเวลามาก กว่าจะทำสำเร็จ ผู้ที่เริ่มโครงการอาจไม่ทันทำให้สำเร็จ โดยตลอดด้วยตนเองก็ได้ ต้องมีผู้อื่นมารับทำต่อไป..........”  

 

 

 

 

 

http://www.codi.or.th/index.php/news/documentary-communities-news/42-200...