นโยบายโฉนดชุมชนเพื่อสร้างความเป็นธรรม ข้อเสนอการแปลหลักการสู่การปฏิบัติ โดย กฤษฎา บุญชัย, ผู้แทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท)

กฤษฎา บุญชัย: เลขาคณะอนุกรรมการปฏิรูปที่ดินและฐานทรัพยากร

 

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โฉนดชุมชนคือหนังสืออนุญาตให้ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชน ซึ่งชุมชนมีหน้าที่ต้องดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฏหมายและระเบียบ

 

ตามมาตราของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน นอกเหนือจากมาตรา 66 ที่ว่าเรื่องสิทธิชุมชน ยังมี

 

มาตรา 85 กำหนดไว้ว่า การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง โดยการปฏิรูปที่ดิน หรือวิธีอื่น ๆ รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียง และเหมาะสมแก่การเกษตร หมายความว่า สิทธิของเกษตรกรต่อทรัพยากร ไม่ใช่แค่ที่ดินอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงทรัพยากรอื่น ๆ ด้วย

 

เราลองมาเปรียบเทียบหลักคิดในทางด้านการจัดการทรัพยากร เราได้เห็นอะไรบ้าง การที่เราเปิดให้ทรัพยากรถูกเข้าถึง ถูกใช้ประโยชน์อย่างเสรี ต่างคนต่างใช้เป็นสมบัติสาธารณะโดยรวม ทำให้ทรัพยากรเกิดความเสื่อมโทรม แต่ถ้าเรามีระบบการจัดการร่วมกันของชุมชน ทำให้เรามีหลักประกันมั่นคงมากยิ่งขึ้นในการดูแลรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกัน ขณะเดียวกัน เราก็ยังมีสิทธิอีกแบบหนึ่ง ที่เรียกว่ากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลต่อทรัพยากร อย่างเช่น กรรมสิทธิ์ที่ดินของใครของมัน

 

จากหลักคิดเหล่านี้ เราลองมาเปรียบเทียบกัน ถ้าเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน ผู้มีสิทธิจะดูแลปกป้องทรัพยากรของตนเอง เพราะเป็นประโยชน์ของตนเอง สามารถเป็นหลักทรัพย์ได้ ซื้อขายแลกเปลี่ยน ค้ำประกันได้ จำนองได้ อยู่ภายใต้กลไกตลาด ซึ่งตรงนี้เกิดปัญหาได้เยอะ เพราะถ้าเป็นที่ของเอกชน ของใครของมัน ที่ดินจะถูกซื้อขายได้ง่าย แรงจูงใจทางตลาด หรือแรงกดดันทางตลาดทำให้เราต้องถูกเปลี่ยนที่ดินได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้าเป็นระบบสิทธิชุมชนร่วมกัน เช่น เรากำลังพูดถึงโฉนดชุมชน ผู้มีสิทธิจะร่วมกันปกป้องดูแล ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรโดยมีกติการ่วมกัน ไม่สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ที่เอาไปขาย เอาไปจดจำนอง ซึ่งเสี่ยงต่อการสํญเสียสิทธิในที่ดิน อันนี้คือสิ่งเราต้องการความมั่นคง

 

สิทธิสาธารณะ สาธารณะมอบให้รัฐดูแล ตามกฏหมายรัฐต้องคอยปกป้องดูแล ไม่สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ได้ ไม่เสี่ยงต่อการสูญเสีย แต่ที่ผ่านมา มันเกิดความสูญเสียโดยรัฐให้นายทุนเข้ามาจับจอง หรือแปลงให้เอกชนเข้าไปทำประโยชน์ได้อย่างมากมาย

 

ข้อดีของสิทธิชุมชนในที่ดิน

 

1.  ชุมชนบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ร่วมต่อสมาชิก ภายใต้ข้อตกลงร่วมกับภาครัฐ

 

2. ชุมชนสามารถปกป้อง ป้องกันการใช้ที่ดินที่อาจกระทบกับชุมชน และสามารถทำให้พื้นที่รอบข้างของรัฐได้รับประโยชน์ไปด้วย หมายความว่าแทนที่จะตั้งคำถามว่า โฉนดชุมชน ป่าชุมชน หรือระบบการจัดการชุมชน จะไปทำให้ทรัพยากรส่วนรวมเสีย มันกลับเป็นในทางตรงกันข้าม การจัดการร่วมของชาวบ้านและชุมชน จะมีส่วนเอื้อให้ทรัพยากรรอบข้าง ได้รับการปกป้องดูแลด้วย

 

3. รัฐจะได้รับความร่วมมือ ที่ผ่านมารัฐไม่ได้เน้นเรื่องการส่งเสริมสิทธิชุมชน แต่เน้นในเรื่องของเอกชน เน้นเรื่องของการเข้ามาแย่งยึดทรัพยากร ทำให้เกิดความขัดแย้งกับชาวบ้านและประชาชน

 

ความต้องการสิทธิในที่ดินของชุมชน คือ

 

1.ต้องการได้รับสิทธิในการบริหารจัดการ เนื่องจากว่าการใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐโดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับกรรมสิทธิ หมายความว่าชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ใช้ที่ดินโดยอยากให้เกิดความมั่นคงระยะยาว ส่วนเรื่องกรรมสิทธิอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

2.เรื่องของสิทธิ การให้ หรือ การเพิกถอน หมายความว่าชุมชนอยากจะมีอำนาจ อยากจะมีสิทธิให้แก่สมาชิก หรือเพิกถอนสิทธิ หากสิทธินั้นไปกระทบต่อผู้อื่นในชุมชนด้วยกันเอง ซึ่งครั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ข้อกำหนด หรือเงื่อนไขที่ชุมชนปฏิบัติร่วมกัน

 

3.สมาชิกผู้ได้รับสิทธิจากชุมชน จะไม่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างเสรีได้ นี่คือระบบจัดการร่วม

 

สิทธิในที่ดินประเภทต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้ มีอย่างน้อย 3 อย่างคือ

 

  1. สิทธิการใช้ประโยชน์
  2. กรรมสิทธิ์แบบมีเงื่อนไข
  3. กรรมสิทธิ์แบบสมบูรณ์

 

สิทธิการใช้ประโยชน์ ไม่ได้เน้นเรื่องกรรมสิทธิ์ แต่เน้นเรื่องมีสิทธิการใช้ประโยชน์อย่างมั่นคงยืนยาว  กรรมสิทธิ์แบบนี้ เงื่อนไขหมายถึงว่า มีสิทธิได้ เป็นกรรมสิทธิของเรา แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่ไปกระทบต่อชุมชนอื่น ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่กระทบต่อความมั่นคงอื่น ๆ ขณะที่กรรมสิทธิ์แบบสมบูรณ์ หมายความว่าเป็นสิทธิแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

 

แนวนโยบายของรัฐในด้านที่ดิน ที่อาจารย์อิทธิพลได้ประมวลมา เหล่านี้เป็นแนวนโยบายที่แถลง ล้วนเป็นวลีที่สวยงามจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น คุ้มครองรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตร ที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทาน เพื่อเป็นฐานในการผลิตเกษตรระยะยาว จัดหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรในรูปของธนาคารที่ดิน เร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ ถ้าชุมชนทำกินอยู่ในที่ดินที่ไม่มีสภาพเป็นป่าแล้ว ก็จัดการในรูปของโฉนดชุมชน หรือรวมทั้งสนับสนุนการรวมตัวในรูปของนิคมการเกษตร เหล่านี้เป็นแนวนโยบายที่รัฐได้เคยแถลงเอาไว้

 

เรื่องโฉนดชุมชน ในทางนโยบาย มันปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ นายกฯได้มีคำสั่งโดยสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2552 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน คือพวกเราได้ร้องเรียนถึงปัญหาเหล่านี้ เลยมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขกันขึ้นมา

 

กรรมการที่เกี่ยวข้องกับที่ดินมีกี่ชุด เรามีคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสาธารณะประโยชน์ ที่ดินปล่อยทิ้งร้าง และเหมืองแร่ เรามีคณะอนุกรรมการเรื่องที่ดินอุทยาน เรื่อง สปก. เรื่องที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ ที่ดินราชพัสดุ รวมทั้งมีคณะศึกษาเรื่องแนวการปฏิบัติตามนโยบายการกระจายการถือครองที่ดิน เราจะเห็นได้ว่า เรามีคณะอนุกรรมการอยู่เต็มไปหมด ในการที่จะพูดถึงเรื่องปัญหาที่ดิน

 

จากข้อมูลปีพ.ศ.2551 มีชุมชนชาวบ้านที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐอย่างไรบ้าง ขณะนี้ในป่าสงวนแห่งชาติมี 4 แสน 5 หมื่นราย เป็นเนื้อที่ 6.4 ล้านไร่ ในเขตอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มี 185,000 กว่าราย ในพื้นที่ 2 ล้านกว่าไร่ ที่ราชพัสดุอีก 160,000 ราย ที่สาธารณะอีก 1 ล้านไร่ ส่วนที่ สปก. ยังไม่มีข้อมูล แสดงว่าเรามีพื้นที่ซ้อนทับกันระหว่างพื้นที่ของรัฐกับพื้นที่ของชุมชนเป็นจำนวนมาก ถ้านับเป็นที่รวมกันก็ร่วม 10 กว่าล้านไร่แล้ว จะเห็นว่ามีชุมชนอีกจำนวนมากที่ซ้อนทับกันอยู่ในที่นี้

 

สำหรับเรื่องโฉนดชุมชน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2552 เห็นชอบหลักการร่างระเบียบสำนักนายกเรื่องของโฉนดชุมชน แล้วส่งให้กฤษฎีกาได้ดูแลและประสานงานเพื่อให้เกิดการจัดการเรื่องโฉนดชุมชนขึ้นมา แล้วมีมติเมื่อ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการจัดการที่ดิน โฉนดชุมชน ตามที่กฤษฎีกาได้พิจารณาแล้ว แล้วมีระเบียบออกมา

 

ในระเบียบสำนักนายกฯ ทางการได้เขียนกำหนดเอาไว้อย่างไรบ้าง แต่ความหมายของพวกเราจะมีแตกต่างกันออกไป ตามที่ระเบียบสำนักนายกฯเขียนก็คือ หนังสืออนุญาตให้ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชน ซึ่งชุมชนมีหน้าที่ต้องดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฏหมายและระเบียบ ซึ่งก็มีความหมายว่า เป็นหนังสืออนุญาตเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์

 

ตามคำถามของอาจารย์ศรีศักรที่ว่าโฉนดชุมชนเป็นของใคร หรือเป็นของรัฐเองที่กำหนดกฏเกณฑ์ให้เรา หรือเป็นสิ่งที่เราบุกเบิกและจัดการขึ้นมา เป็นสิ่งที่เราจะต้องคิดต่อ

 

ชุมชน หมายถึงอะไร ก็คือกลุ่มคนที่รวมตัวกัน มีวัตถุประสงค์ร่วม มีการดูแลร่วมกัน โดยมีหลักการกำหนดไว้ว่า มีการจัดการร่วมซึ่งต้องทำมาก่อนอย่างน้อย 3 ปี ก่อนที่จะมีระเบียบบังคับใช้ อันนี้หมายความว่าโฉนดชุมชน กำหนดให้ชุมชนมีความพร้อม ดำเนินการมาก่อน 3 ปีก่อนที่ระเบียบสำนักนายกฯบังคับใช้ จึงจะอยู่ในเงื่อนไขของการอนุญาตเรื่องโฉนดชุมชน ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) มีหน่วยงานรัฐทั้งนั้นที่มาเป็นกรรมการเหล่านี้

 

มีสำนักงานโฉนดชุมชนเกิดขึ้นมา ในวาระแรกคือ มีการตั้งคณะกรรมการตามระเบียบนี้ เพื่อดูเรื่องโฉนดชุมชนนำร่อง

 

หลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับที่ดิน การดำเนินการประสานงานของคณะกรรมการเรื่องโฉนดชุมชน ให้แก่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ต้องเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งชุมชนได้เข้ามาครอบครองนานไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนที่ระเบียบสำนักนายกฯจะประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2553 แล้วก็ที่ดินของรัฐนั้นสามารถอนุญาตให้ชุมชนเข้าใช้ประโยชน์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

 

คุณสมบัติของชุมชนที่มีสิทธิที่จะยื่นขอ ก็ให้รวมตัวมาไม่น้อยกว่า 3 ปี มีคณะกรรมการของชุมชนอย่างชัดเจน ชุมชนครอบครองที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยและทำกินในลักษณะที่ใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นโดยตรง มีความเข้มแข็ง มีกฏระเบียบ มีหลักฐานว่า ดำเนินการมาไม่น้อยกว่า 3 ปี มีทั้งการยื่นคำขอ ทำแผนที่ ทำบัญชีรายชื่อ ทำประวัติของชุมชนเอง และมีข้อเสนอการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรประกอบด้วย

 

ระยะเวลาการขอ เมื่อกรรมการมีมติเห็นชอบ จะส่งเอกสารให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอนุญาตให้ชุมชนได้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ

 

โฉนดชุมชนที่ออกให้แก่ชุมชนแต่ละครั้ง ให้เป็นไปตามระยะเวลาที่ชุมชนได้รับอนุญาต นั่นหมายความว่ามีการต่ออายุ ถ้าหมดอายุก็ต้องมาต่อโดยพิจารณาเป็นครั้ง ๆ ไป

 

อำนาจหน้าที่ของกรรมการก็คือ จัดทำระเบียบขึ้นมา จัดทำฐานข้อมูล จัดทำแผนพัฒนา รวมทั้งแผนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร กำหนดแผนเรื่องการอนุรักษ์ ดำเนินการตั้งกองทุนที่ดินของชุมชน โดยดำเนินการตามนโยบาย ตามระเบียบที่กำหนดเอาไว้ มีการต่ออายุ ถ้าทำผิดเงื่อนไขก็มีการสามารถเพิกถอนได้ กรณีทำผิดเงื่อนไขร้ายแรง โดยขอยุบ โดยชุมชนแจ้งประสงค์เอง หรือทางกรรมการดำเนินการตรวจสอบ

 

สำหรับความก้าวหน้า ได้มีการมอบโฉนดชุมชนฉบับแรกที่ บ้านคลองโยง จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 ปัจจุบันมีการยื่นขอโฉนดชุมชนแล้วจำนวน 187 ชุมชน เนื้อที่ 790,000 ไร่ อนุมัติแล้ว 35 รายกำลังตรวจสอบอีก 54 ราย ที่จริงยังมีอีกมากที่ทะยอยขอเข้ามา

 

งานวิจัยโดยเครือข่ายชาวบ้านทำเองขึ้นมา พบว่า โฉนดชุมชนไม่มีรูปแบบที่ตายตัว มันสัมพันธ์กับบริบทของท้องถิ่นที่แตกต่างหลากหลายกันไป ดังนั้นเราจึงไม่สามารถมองโฉนดชุมชนแบบสำเร็จรูปได้

 

ผมขอประมวลจากบทเรียนของ คปท.หรือเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยว่า 24 เดือนของการเคลื่อนไหวเรื่องโฉดชุมชน เราพบอะไรบ้าง

 

ต่อไปนี้เป็นการเรียบเรียงจากบทความของคุณเมธี สิงห์สู่ถ้ำ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (Local Act) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ

 

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯพูดถึงว่า มีความพยายามผลักดันเรื่องของโฉนดชุมชนขึ้นมา มีการทำงานวิจัยเรื่อง ขบวนการปฏิรูปที่ดิน และการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน โดยมีงานวิจัยอย่างน้อย 3 พื้นที่ด้วยกัน อย่างเช่นที่แรก ที่ชุมชนบ้านโป่ง สันทราย เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีปัญหากับที่ดินเอกชน ชุมชนทับเขือ จังหวัดตรัง และที่จังหวัดชัยภูมิ ทั้ง 3 พื้นที่นี้ล้วนมีปัญหาต่างกัน บางพื้นที่มีปัญหากับที่ดินเอกชน ที่จังหวัดตรังมีปัญหาซ้อนทับกับเขตป่า ที่จังหวัดชัยภูมิมีปัญหาเกี่ยวกับที่ดินสาธารณะ

 

งานวิจัยโดยเครือข่ายชาวบ้านทำเองขึ้นมา พบว่า โฉนดชุมชนไม่มีรูปแบบที่ตายตัว มันสัมพันธ์กับบริบทของท้องถิ่นที่แตกต่างหลากหลายกันไป ดังนั้นเราจึงไม่สามารถมองโฉนดชุมชนแบบสำเร็จรูปได้

 

มีกรณีชุมชนดำเนินการการทดลองเอาระบบภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้ามาปรับใช้ในชุมชน ไม่ต้องรอรัฐ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่รัฐจะมีภาษีอัตราก้าวหน้า แต่ชุมชนทดลองทำเองขึ้นมา ชุมชนทับเขือได้ร่วมกันในการวางแผนจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น มีแผนทั้งเรื่องเศรษฐกิจด้วย ทรัพยากรด้วย การเมืองและวัฒนธรรม เพื่อที่จะสร้างสิ่งที่เรียกว่าอธิปไตยของชุมชนขึ้นมา แต่อีกด้านหนึ่ง ที่ชุมชนบ้านโป่ง มีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อที่จะนำเงินออมมาพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน มีการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเอางบประมาณเหล่านี้มาสนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน

 

แสดงว่า เงื่อนไข 1.โฉนดชุมชน 2.ธนาคารที่ดิน 3.ภาษีอัตราก้าวหน้า เป็นสิ่งที่ชุมชนได้ทดลองและดำเนินการปฏิบัติแล้ว โดยไม่ต้องรอรัฐเลย นี่เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น  ก่อนหน้านี้

 

นอกจากนี้ ชุมชนยังได้ทำสิ่งที่เรียกว่า “การทำการผลิตแปลงรวม” มีพื้นที่หน้าหมู่ พื้นที่สาธาณะที่มาทำการผลิตร่วมกัน นี่คือบททดลอง บทปฏิบัติการของชาวบ้านที่เกิดขึ้นจริง ทั้ง 3 ชุมชนเป็นการปรับรูปแบบ หลักการและวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ดังนั้นเราจึงเห็นสภาพความหลากหลายที่เกิดขึ้น เราจึงเห็นความเชื่อมโยง เรื่องโฉนด อัตราภาษีก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน ซึ่งต้องไปด้วยกัน

 

นิยามโฉนดชุมชนที่เครือข่ายฯพูดถึง คือ เป็นรูปแบบของการบริหารจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัยของชุมชน โดยองค์กรของชุมชนเอง สอดคล้องกับมาตรา 66 ตามรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิหน้าหมู่ของชุมชนในการครอบครองและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร เพื่อสร้างความมั่นคงในการถือครอง รวมถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชน เพื่อรักษาพื้นที่เกษตรในการผลิตพืชอาหาร ให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร หล่อเลี้ยงชุมชน และหล่อเลี้ยงสังคมอีกด้วย นี่คือนิยามที่เครือข่ายชาวบ้านพยายามที่จะพัฒนาขึ้นมา

 

บทเรียนการขับเคลื่อน เราประเมินได้ว่านโยบายการจัดการที่ดินของรัฐ ขณะนี้ยังไม่นำมาสู่การปฏิบัติเท่าที่ควร ยังไม่มีการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เท่าที่เห็นให้เป็นรูปธรรม มีการมอบโฉนดชุมชนได้เพียงที่เดียวเองคือที่คลองโยง จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็น 1 ใน 35 แห่ง และยังมีอีกหลายร้อยแห่งที่ยื่นคำขอเข้ามา จึงเห็นว่าการปฏิบัติการของรัฐเองมีข้อจำกัดอยู่มาก

 

อีกด้านหนึ่งเราพบว่า มีคดีความฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน มีขึ้นเป็นจำนวนมากในพื้นที่เหล่านั้น แม้พื้นที่เหล่านั้นจะเป็นพื้นที่ที่ยื่นของโฉนดชุมชนก็ตาม เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าได้ ได้ยื่นฟ้องขับไล่ชาวบ้านที่คลองสาม จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 31 ราย ให้ออกนอกพื้นที่ หรือกรมอุทยานเองก็มีการขับไล่ฟ้องร้องชาวบ้าน ทั้งที่ชัยภูมิ ตรัง และเพชรบูรณ์ ด้วยข้อหาว่า เป็นสาเหตุทำให้โลกร้อน จำนวน 34 ราย เรียกค่าเสียหายกับชาวบ้านกว่า 12 ล้านบาท นายทุนสวนปาล์มที่สุราษฎร์ก็ฟ้องร้องชาวบ้านจำนวน 27 รายซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ นายทุนออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบ และปล่อยให้ทิ้งรกร้าง ก็ได้ฟ้องร้องชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 728 ราย

 

ยังมีคดีความลักษณะนี้อยู่อีกมาก และกำลังจะเพิ่มขึ้น ล่าสุด พวกเราได้ไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่ลำพูนคือคุณลุงสุขแก้วและพรรคพวกอีก 9 คนที่ถูกจับ นี่เป็นคดีความที่เกิดขึ้นโดยการฟ้องร้อง ขณะที่โฉนดชุมชนกำลังมีนโยบายก็ยังไม่ค่อยคืบ แต่ชาวบ้านเหล่านี้ก็กำลังถูกดำเนินการฟ้องร้องจับกุม

 

มีการประชุมของเครือข่ายชาวบ้านกับคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ทั้งกรรมการและอนุกรรมการไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการที่มีนายกฯเป็นประธาน คณะอนุกรรมการเรื่องที่ดินทิ้งร้าง เรื่องเหมืองแร่ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาอุทยานแห่งชาติ เรื่องที่ สปก. เรื่องปัญหาที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก เรามีคณะอนุกรรมการเต็มไปหมด

 

ตลอดปี พ.ศ.2553 มีการชุมนุมขับเคลื่อนและพยายามที่จะเรียกร้องปัญหาเหล่านี้ แต่ปัจจุบันนี้แม้แต่ปัญหาโฉนดชุมชนก็ยังไม่ค่อยคืบหน้าเท่าไหร่เลย อาจมีบ้างอย่างคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ ที่ดิน ในกรณีภาคอีสานและที่อื่น ๆ ก็กำลังมีการเจรจาพูดคุยกันอยู่

 

โดยรวมแล้วสิ่งที่เรากำลังเผชิญก็คือว่า รูปธรรมที่เกิดขึ้นยังไม่มีมากเท่าไหร่ แม้พื้นที่ สปก.เองก็มีลักษณะเช่นนั้นด้วย มีความคืบหน้าบ้าง อย่างเช่น เรื่องของที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ ซึ่งพี่น้องได้พยายามสู้ต่อรองกับหน่วยงานรัฐ ชุมชนคลองโยงเองก็สามารถผลักดันจนได้รับโฉนดชุมชนขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น ชาวบ้านคลองโยงต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างหนัก กว่าจะได้โฉนดชุมชนฉบับนี้มา

 

รัฐบาลได้เคลื่อนไหวในทางนโยบายอย่างไรบ้าง มีการแต่งตั้งคณะทำงานอย่างเช่น คณะศึกษามาตรการทางกฏหมายนโยบายเพื่อรองรับการกระจายการถือครองที่ดิน มีคณะกรรมการศึกษาโครงสร้างระบบภาษีที่ดิน มาตรการเรื่องการเงินการคลัง จัดตั้งธนาคารที่ดินขึ้นมา มีคณะทำงานศึกษาการกระจายการถือครองที่ดิน การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม การรับรองสิทธิในรูปของโฉนดชุมชน และยังมีการศึกษาในรูปของแนวทางต่าง ๆ

 

วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2553 มีระเบียบสำนักนายกฯอย่างที่กล่าวมา

 

แม้ว่าชุมชนเหล่านี้มีจำนวนหนึ่งได้ผ่านการคัดเลือก แต่กว่าที่จะออกมาเป็นโฉนดชุมชน ก็ยังมีข้อจำกัด อย่างที่เราทราบกันว่าได้มาที่เดียวเองที่ได้ จากการผลักดันของเครือข่ายปฏิรูปฯเอง ได้ให้มีการยกร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันจัดการธนาคารที่ดินขึ้นมา ในรูปขององค์การมหาชน และยังมีการผลักดันจนมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันจัดการธนาคารที่ดิน ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ส่วนปัญหาด้านคดีความ นับวันก็จะมากยิ่งขึ้น และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการคลี่คลายลงอย่างไร

 

สรุปแล้ว รัฐบาลมีนโยบายที่เกิดจากการผลักดันของประชาชน นโยบายเรื่องโฉนดชุมชน การกระจายการถือครองที่ดิน แต่ภาคปฏิบัติมีปัญหา สรุปก็คือ ด้านหนึ่งมีจำนวนมากที่เสนอขอโฉนดชุมชน แต่ก็ติดเงื่อนไขยังไม่ได้รับการรับรอง ชุมชนหลายพื้นที่กลับถูกจับกุม ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่ปัญหาที่หน่วยงาน เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรฯ ต่างไม่ยินยอมให้มีโฉนดชุมชน หรือปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น แต่โดยรวมแล้วทำให้เราเห็นว่า เรายังมีอุปสรรคจำนวนมาก เราอาจจะต้องคิดโจทย์ต่อจากที่อาจารย์ศรีศักรพูดถึงว่า เราจะทำอย่างไรที่จะพยายามที่จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า โฉนดชุมชน ที่เป็นของเรา ที่ยึดโยงกับนิเวศวัฒนธรรม ยึดโยงกับโครงสร้างองค์กรของชุมชน และปฏิบัติการเคลื่อนไหวให้เกิดขึ้น ช่วงต่อไปเป็น 2 ช่วง คือ 1.เราจะมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุปัญหา 2.มาตรการการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดบรรลุ

http://social-agenda.org/article/1309