การสัมมนาเรื่อง “โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การใช้ทฤษฎีอธิบายความไม่เป็นธรรมทางสังคม” นำความรู้เรื่องความเป็นธรรมมานำเสนอเพื่อให้เราสามารถมองผ่านปรากฏการณ์ความไม่เป็นธรรม จนนำไปสู่คำอธิบายเชิงโครงสร้างออกมาให้ได้ เมื่อเราได้มองเห็นความสำคัญของการศึกษาทฤษฎีแล้ว และเราเข้าใจมโนทัศน์ความเป็นธรรมมากขึ้นแล้ว อาจารย์ปกรณ์ สิงห์สุริยา จากมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถนัดปรัชญาสายการตีความ (Hemeneutics) อาจารย์ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นในประเด็นเรื่องการมองเห็นคนอื่นเป็นมนุษย์อย่างไร เพราะจุดเริ่มต้นของความคิดเรื่องความเป็นธรรม ก็คือ เราต้องเริ่มจากการมองเห็นเขาเป็นมนุษย์ก่อน แล้วอาจารย์จะโยงไปสู่ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมให้เราเข้าใจ ผ่านการตีความของ recognize และ Identify
ผศ.ดร.ปกรณ์ สิงห์สุริยา : มหาวิทยาลัยมหิดล
ผมจะพูดต่อไปเรื่องความยุติธรรม ผมจะพูดเลยของอาจารย์ปิยฤดีไป คือเป็นเรื่องของ recognition ปัญหาแรกในการพูดเรื่องนี้ก็คือ มันไม่มีภาษาไทยที่จะเรียก recognition ในที่นี้เราคงรู้จักคำว่า recognize ในภาษาไทยแล้ว ภาษาไทยเราก็รับหลาย ๆ คำที่เป็นของตะวันตกมาใช้ เช่นคำว่า care คำว่า recognize ผมก็ได้ยินบ่อย ๆ มากขึ้นแล้ว ดังนั้นก่อนอื่นเรามาดูก่อนว่า คำว่า recognize หมายความว่าอะไร
ความหมายของ Recognize
คำว่า recognition แม้แต่ภาษาอังกฤษก็มีปัญหา อย่างของภาษาฝรั่งเศสเขาบอกว่ามี 25 ความหมายของ recognition แต่เราจะมาดูเฉพาะที่เป็นมาตรฐานและใช้ถกเถียงกันในปรัชญา ผมก็จะดูตัวอย่างที่ใช้ในภาษาไทยกันก่อน
- “เขาไม่ recognize พ่อแม่ของฝ่ายหญิงเลย”
– การรับรู้การมีอยู่ของบุคคลที่สำคัญ
- “พอจบนอกแล้ว เขาก็ไม่ recognize ครูบาอาจารย์ที่เมืองไทย”
– การรับรู้คุณความดีของบุคคล
- “คนไทยไม่ recognize วัฒนธรรมของชาวเขา จึงนำมาล้อเล่น” หรือ
- “คนไทยไม่ recognize ภาษาถิ่น จึงไม่ยอมให้นักเรียนนำมาพูดในโรงเรียน”
– ความเคารพ หรือ ความยอมรับ “คุณค่าในตัวเอง”
อย่างกรณีแรกที่ได้ยิน คำกล่าวว่า ผู้ชายคนนี้ไม่ recognize พ่อแม่ของฝ่ายหญิงเลย อันนี้ก็เป็น recognize ในความหมายหนึ่ง อย่างเช่นผู้ชายคนนี้อาจจะรวยมาก จึงไม่ recognize พ่อแม่ของฝ่ายหญิง แต่ชอบผู้หญิงเพราะสวย จะเห็นว่า recognize หมายถึง เรื่องของการรับรู้ การมีอยู่ของบุคคลสำคัญ ถ้าผู้ชายไม่ recognize พ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็อาจจะเอาอกเอาใจผู้หญิงเป็นอย่างมาก แต่ทำเป็นไม่เห็นหัวของพ่อแม่ฝ่ายหญิงเลย คือไม่รับรู้ว่าพ่อแม่ของฝ่ายหญิงมีอยู่ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นบุคคลที่น่าจะสำคัญ อันนี้เป็นตัวอย่างแรกของ recognition ที่เราใช้ในภาษาไทย
ตัวอย่างที่ 2 คือ หลายคนพอจบเมืองนอกแล้ว ก็ไม่ recognize ครูบาอาจารย์ที่เมืองไทย คำว่า recognize อันนี้หมายถึง ไม่รับรู้คุณความดีของบุคคล เป็นอีกความหมายหนึ่ง แต่ในภาษาอังกฤษมีไม่ชัด อันนี้ตรงกับภาษาฝรั่งเศสคือ recognize แปลว่า รับรู้คุณความดีของบุคคล
ทั้ง 2 ตัวอย่างนี้เป็นrecognize ที่เราใช้กัน มีรากหรือจุดเชื่อมโยงกับภาษาไทย เป็นเรื่องของบุคคลที่สำคัญหรือบุคคลเฉพาะ แต่พอไป recognize ความหมายที่ 3 ผมว่าหลายท่านน่าจะได้ยิน เช่น คนไทยไม่ recognize วัฒนธรรมชาวเขาเลย เลยเอามาล้อเล่นกัน อย่างโปงลางสะออน ชาวเขาบอกว่าทำให้ภาษาชาวเขาวิบัติไปเลย หรืออีกอันที่ได้ยินคือ คนไทยไม่ recognize ภาษาท้องถิ่น ไม่ยอมให้มาพูดในโรงเรียน ให้พูดแต่ภาษากลาง อันนี้เป็น recognize ที่ได้ยินแต่ไม่เหมือนกับ recognize ในความหมาย 2 อันแรก อันนี้เป็นเรื่องของการเคารพหรือยอมรับบางสิ่งบางอย่างที่เราเชื่อว่ามีคุณค่าในตัวเอง เช่น ความเป็นตัวตน หรือ อัตลักษณ์ของชาวเขา ในวัฒนธรรมของเขาน่าจะมีคุณค่าในตัวเขาเอง หรือภาษาท้องถิ่น หรือภาษาใด ๆ ก็น่าจะมีคุณค่าในตัวเอง เพียงแต่เราไม่ไปยอมรับมัน ก็เลยบอกว่าเราไม่ recognize อันนี้จะเป็นความหมายใหม่ที่เรานำมาใช้ กล่าวคือ ปกติภาษาไทยเวลาที่จะเทียบกับ recognize เรามักจะใช้กับคนที่มีสถานะพิเศษหรือเป็นบุคคลสำคัญ แต่พอมาดูอันนี้ ดูเหมือนเป็นเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องชาวเขาหรือภาษาถิ่นซึ่งไม่ใช่บุคคลสำคัญหรือบุคคลเฉพาะ อาจจะเป็นบุคคลชายขอบด้วยซ้ำ แต่เราก็เอา recognize มาใช้ อันนี้ก็จะเป็นเรื่องใหม่ ๆ ในสังคมไทย
- การรับรู้การมีอยู่ของบุคคลที่สำคัญ/การรับรู้คุณความดีของบุคคล
- เคารพนับถือ หรือ “เห็นหัว”
- ความเคารพ หรือ ความยอมรับ “คุณค่าในตัวเอง”
- เคารพยอมรับ
สรุปความหมายของ recognize
เราลองมาสรุปความหมายของ recognize กันความหมายแรกคือ
กลุ่มที่ 1. คือการรับรู้การมีอยู่ของบุคคลที่สำคัญ หรือ รับรู้คุณความดีของบุคคล ถ้าภาษาไทยก็จะมีคำที่เทียบตรงกันได้ คือ เคารพ นับถือ หรือ เห็นหัว เช่น ถ้าใครไม่ recognize เราก็แปลว่า เขาไม่เห็นหัวเราเลย ทำไมเขาทำกับเราแบบนี้ เพราะฉะนั้น recognize ก็จะโยงไปถึงการดูถูกเหยียดหยามไปด้วย
กลุ่มที่ 2. เป็นสิ่งที่ใหม่ ผมจึงไม่ทราบจะหาคำไทยอะไรมาเรียก เลยแต่งเองว่าเป็น เคารพ ยอมรับ เช่น เรายอมรับชาวเขาอย่างที่เขาเป็น เรายอมรับภาษาถิ่นอย่างที่เขาเป็น เรายอมรับความเป็นชาวเขาโดยไม่ไปล้อเลียนหรือดูถูก recognize ในความหมายที่กว้างแบบนี้น่าจะหมายถึง เคารพ ยอมรับ
ถ้าเราเริ่มจากจุดนี้ เคารพยอมรับ กับ เคารพนับถือ เราตั้งคำถามบางอย่างได้ไหมว่า หากต้องการบอกว่าสิ่งนี้ไม่ยุติธรรม ผมจะพูดอย่างนี้ได้ไหมว่า สิ่งนี้ไม่ยุติธรรมเพราะเขาไม่เคารพนับถือเรา หรือ เขาไม่เห็นหัวเราเลยไม่ยุติธรรม มันน่าจะแปลว่า เขาไม่มีสัมมาคารวะ เขาไม่กตัญญู เขาไปเรียนเมืองนอกแล้วลืมอาจารย์ นั่นก็คือ ถ้าเขาไม่เคารพคนสำคัญ มันก็จะเป็นเรื่องของการขาดคุณธรรมบางอย่าง คุณธรรมคือลักษณะที่ดีของบุคคล ตอนนี้ถ้าใครทำ TQF จะทราบดีว่า กระทรวงศึกษาจะใช้คำว่า คุณธรรม แต่กระทรวงศึกษาไม่เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต คำว่า คุณธรรม ราชบัณฑิตใช้คำว่า virtue แต่กระทรวงศึกษาไปใช้คำว่า moral กระทรวงศึกษาน่าจะเปิดพจนานุกรมดูบ้าง พอไม่เคารพนับถือก็เรียกว่าไม่มีคุณธรรมคือเป็นคนไม่ดี ไม่มีสัมมาคารวะ ไม่นบนอบ ไม่กตัญญู เพราะฉะนั้น “ความไม่ยุติธรรม” ไม่น่าจะเกี่ยวกับการเคารพนับถือ ส่วน recognition จะเกี่ยวกับคุณธรรมอย่างไร ดูความหมายที่สอง
ตัวอย่างความหมายที่ 2 สิ่งนี้ไม่ยุติธรรมเพราะเขาไม่เคารพยอมรับเรา อันนี้พอจะพูดได้ไหมว่า ไม่ยุติธรรม เขาไม่เคารพยอมรับ ผมก็อาจจะบอกว่าไม่เป็นธรรมที่ถาม เพราะว่าผมบอกแล้วว่า ผมแต่งคำขึ้นมาเอง คำว่า เคารพยอมรับ
ปิยฤดี ไชยพร : ประโยคนี้ ถ้าเราจะตอบได้ มันต้องเข้าใจคำว่า “ไม่เคารพยอมรับ” ว่ามันหมายถึงความรู้สึก ทัศนคติ หรือออกมาเป็นรูปพฤติกรรมด้วย เพราะว่าถ้าแค่รู้สึก ก็ไม่รู้ว่ามันไม่ยุติธรรมหรือเปล่า ถ้าเป็นทัศนคติ มันก็ยังไม่แน่ แต่ถ้าเป็นการแสดงออกบางอย่าง เช่น ถ้ารู้ว่าวัฒนธรรมของฉันไม่กินหมู ยังเสริฟอาหารหมูมา หรือรู้ว่าเราเคร่งเรื่องชายหญิง ยังใช้ห้องน้ำรวม อันนี้อาจไม่ยุติธรรม มันต้องแล้วว่า การไม่เคารพยอมรับมันเป็นความรู้สึก ทัศนคติ หรือออกมาเป็นพฤติกรรมด้วย
ปกรณ์ สิงห์สุริยา : ประโยคที่ว่า ไม่ให้พูดภาษาถิ่นในห้อง หรือ นำชาวเขามาล้อเล่น ถือเป็นการไม่เคารพยอมรับ อย่างเพลงที่ล้อเลียนภาษาชาวเขาขายดีมาก คนชอบและรู้สึกว่าเราเอ็นดูเขา แต่เจ้าตัวอาจจะรู้สึกว่า ทำไมมาทำกับเราแบบนี้ อันนี้ก็คือ recognition ที่เกี่ยวกับความยุติธรรมนั่นเอง ก็คือทำไมไปล้อเลียนชาวเขา ผิดด้วยหรือที่เกิดมาเป็นชาวเขา ถ้าเลือกเกิดได้ ทุกคนคงเลือกเกิดเป็นลูกเศรษฐีหมด ในเมื่อเลือกเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเอาสิ่งที่เลือกไม่ได้มาล้อเลียน ทำให้ไม่ยุติธรรม มันเลือกไม่ได้ที่เราจะใช้ภาษาถิ่น ทำไมพูดภาษาถิ่นนี้แล้วมันผิดตรงไหน ทำไมต้องมากด มาเบียด มาล้อเลียน มันไม่ยุติธรรม ทำไมมาทำกับเราแบบนี้ อันนี้คือ recognition ที่เกี่ยวกับความยุติธรรมนั่นเอง
- ไม่ยุติธรรม เพราะ เป็นการไม่เคารพยอมรับฉัน (เรา)
– ทำไมล้อเลียนชาวเขาได้…ผิดด้วยหรือที่เป็นชาวเขา…เลือกเกิดไม่ได้…ไม่ยุติธรรมที่มาล้อเลียน
– “ชาวเขาก็เป็นมนุษย์” หรือ “วัฒนธรรมของชาวเขาก็มีคุณค่า”
- “คุณค่าในตัวเองของมนุษย์” กับ “คุณค่าในตัวเองของวัฒนธรรม”
ดังนั้นจะเห็นว่าเป็นการอธิบายที่ไปไกลกว่าของอาจารย์ปิยฤดีเพราะว่า ไม่ได้ดูเรื่องประโยชน์ที่จะได้ ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ แต่เป็นเรื่องของความหมาย ความเป็นตัวตน ตรงนี้คนก็ยังถกเถียงกัน การเกิดเป็นชาวเขา มันเลือกเกิดไม่ได้ แต่ทำไมต้องมากดขี่กัน แต่ทำไมถึงบอกว่าตรงนี้เป็นความไม่ยุติธรรม มันมี 2 คำอธิบายใหญ่ คำอธิบายแรกคือ ชาวเขาก็เป็นคน เราเอาเขามาล้อเล่นได้อย่างไร มีอีกคำอธิบายหนึ่งบอกว่า วัฒนธรรมของเขาก็มีคุณค่าในตัว มันไม่ใช่ว่าวัฒนธรรมหนึ่งจะมีคุณค่าเหนือกว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง วัฒนธรรมทุกวัฒนธรรมก็มีคุณค่าเท่าเทียมกันหมด ซึ่งอันนี้ก็เป็นความเคลื่อนไหวทางพหุวัฒนธรรมในปัจจุบัน วัฒนธรรมตะวันตกก็เป็นเพียงหนึ่งวัฒนธรรมในหลาย ๆ วัฒนธรรม เพราะฉะนั้นจะถือว่าวัฒนธรรมของเราไม่ตรงกับตะวันตกแล้วจะมาดูถูกเรา ย่อมไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมเราก็มีคุณค่าเหมือนกับวัฒนธรรมตะวันตก วัฒนธรรมคนภาคกลางก็มีคุณค่าพอ ๆ กับวัฒนธรรมชาวเขา เพราะฉะนั้นถ้าชาวเขาไม่เหมือนกับคนภาคกลางแล้วเราเอาเขามาล้อ ย่อมไม่ได้ นี่คือ 2 คำอธิบายที่ว่า ทำไมการไม่เคารพยอมรับถึงเกี่ยวกับความไม่ยุติธรรม
ถ้าจะใช้อีกคำหนึ่งที่ผมพยายามใช้เมื่อสักครู่คือ คุณค่าในตัวเอง จะเป็นคุณค่าในตัวเองของมนุษย์หรือเป็นคุณค่าในตัวเองของวัฒนธรรม มันเปรียบกันได้กับ เคารพนับถือ มันเกี่ยวกับเกียรติยศ แต่ เคารพยอมรับ มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี คือทุกคนมีศักดิ์ศรี เราไปลบหลู่เขาไม่ได้ ทุกคนมีศักดิ์ศรี ไปตบหัวเล่นไม่ได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีเกียรติยศ การมีเกียรติยศต้องเป็นการทำงานบางอย่างถึงจะมีเกียรติขึ้นมา แต่โดยพื้นฐานทุกคนที่เกิดมามีศักดิ์ศรีเหมือนกันหมด
ที่ผ่านมาเป็นการโยงให้เห็นว่า เรารู้สึกว่า recognition มันไม่น่าจะเกี่ยวกับความยุติธรรม แต่ผมโยงให้เห็นว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร มันก็เกี่ยวตรงนั้น และผมจะแสดงให้เห็นว่ายังมีคำภาษาอังกฤษ (หรือภาษาฝรั่งเศส) อีก 2 คำ คือ เคารพนักถือ กับ เคารพยอมรับ มีใช้กัน
คำว่า recognize ในภาษาไทยก็มี แต่มันคนละคำ คือแปลได้ว่า จำได้หมายรู้ คำว่า recognition แปลว่า เคารพยอมรับ ก็ได้ ส่วน recognize แปลว่า มีความสำคัญก็ได้ หรือ recognize แปลว่า จำได้หมายรู้ ก็ได้ เช่น เราจำได้หมายรู้ภาพบนกระดานว่าอันนี้เป็นภาพนก เรา recognize ว่าอันนี้คือภาพนก แล้ว recognize ยังมีความหมายอื่นอีก
ภาษาอังกฤษ
- เคารพนับถือ
- เคารพยอมรับ
- จำได้หมายรู้
ในปรัชญาตะวันตก เขาจะเล่นระหว่าง เคารพยอมรับ กับ จำได้หมายรู้ เขาใช้สลับกันได้เลยอย่างสบายมาก เพราะเป็นคำเดียวกัน แต่พอมาเป็นภาษาไทยมันไม่สบาย เพราะมันสะกดไม่เหมือนกันเลย เคารพยอมรับ กับ จำได้หมายรู้
ความหมายของ Identify
เราจะดูในปรัชญาตะวันตก คำที่เกี่ยวข้องกับจำได้หมายรู้ คือ Identify คือระบุว่าอะไรเป็นอะไร อาจจะพูดแบบระบุเอกลักษณ์ แต่พอพูดเอกลักษณ์ คนมักจะคิดว่าเป็นลักษณะอันโดดเด่น จริง ๆ เอกลักษณ์หมายถึงเท่ากับ เอ เท่ากับ เอ คือ เอ เป็นเอกลักษณ์กับ เอ ก็คือระบุว่าอะไรเป็นอะไร Identify หรือถ้าเรามาโยงกับคำว่า จำได้หมายรู้ ก็คือ ถ้าเรา Identify ได้ว่าอะไรเป็นอะไร แปลว่าเราจำได้หมายรู้ว่าอะไรเป็นอะไร นั่นเอง อย่างถ้าเราเปิดคอมพิวเตอร์ เราไม่รู้คอมพิวเตอร์ เราจะ Identify ไม่ได้เลยว่า อะไรมันคืออะไร คำว่า Identify คือบอกได้ว่าอะไรมันเป็นอะไร หรือคนที่ไม่เคยเป็นหมอ แต่ไปผ่าศพ เห็นแต่แดง ๆ ยัง Identify ไม่ได้ว่า อะไรคืออะไร แต่ถ้าเราเรียนหมอ เราจะ Identify ได้ว่าอันนี้ตับ อันนั้นไต หรือแม้แต่หมอด้วยกัน ถ้าใครไม่ได้เรียนอ่านสไลด์ X-rays พอเห็นเงาในภาพก็ Identify ไม่ได้ว่ามันคืออะไร พอเรา Identify ได้ เราก็จำได้หมายรู้ ทันที
Identify ใช้กับคนก็ได้ ภาษาไทยว่า ระบุอัตลักษณ์ ถ้าเราระบุได้ว่าใครเป็นใคร ก็คือ จำได้หมายรู้ว่าใครเป็นใคร อย่าง Identify บุคคลก็คือ ID Card บัตรประชาชนที่บอกว่าใครเป็นใคร การบอกว่าอะไรเป็นอะไร หรือ ใครเป็นใคร จะมาพร้อมกับการจำได้หมายรู้เสมอ กล่าวคือ Identify ได้เมื่อไหร่ ก็จำได้หมายรู้ทันที Identify ได้เมื่อไหร่ก็ recognize ทันที แต่ทางฝรั่งเขาถือว่าถ้า recognize คือจำได้หมายรู้ว่าใครเป็นใครก็ถือว่าเคารพยอมรับทันที ตรงนี้คือปัญหา ปัญหาเกิดจากอะไร การ Identify ว่าอะไรเป็นอะไรไม่ใช่เป็นเรื่องที่เรียบง่าย เหมือนอย่างที่อาจารย์สุวรรณาบอกว่า ความเป็นจริง มันเป็น conceptual คือมันต้องผ่านกรอบความคิดบางอย่าง เพราะฉะนั้นการจะบอกว่า อะไรเป็นอะไร มันต้องอาศัยมาตรฐานเป็นเครื่องช่วย คือเราบอกไม่ได้ตรง ๆ ว่าอะไรเป็นอะไร แต่เราต้องอาศัยไม้บรรทัดบางอย่างเพื่อจะบอกว่าอะไรเป็นอะไร
ทีนี้เลยเกิดปัญหาว่า เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น คือพอเราไปบอกว่าอะไรมันเป็นอะไรแล้ว เราดันไปจำได้หมายรู้ผิด ฟังแล้วดูแปลก เมื่อกี้ยังบอกว่า Identify แล้วจะต้อง recognize ทันที แต่เพราะว่าการ Identify ต้องอาศัยมาตรฐานบางอย่าง มาตรฐานนั้นไม่ไปตรงกับตัวเขา แล้วเราบอกว่าเราไป recognize เขาแล้ว ก็คือเรา recognize เขาผิด ซึ่งเมื่อ recognize เขาผิดก็คือการไม่เคารพยอมรับเขานั่นเอง เพราะเวลาเรา recognize เขาผิด เราไม่ได้เข้าใจว่าเขาเป็นใครเท่านั้น แต่เราปฏิบัติต่อเขาด้วยตามความเข้าใจผิดของเรา ก็เลยทำให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมขึ้น
ตัวอย่าง คนพิการ Identify ได้ไหมว่าใครพิการ ดูเหมือนง่าย คนนี้ไงพิการ เรา recognize ว่าเขาพิการ อย่างนี้คือขวด เราก็ recognize ว่าเป็นขวดใช่ไหม อันนี้เป็นคนพิการ ดังนั้นสรุป recognize ว่าเขาเป็นคนพิการ แต่ทีนี้ปัญหาคือว่า การ recognize ว่าใครพิการหรือไม่พิการ มันต้องอาศัยมาตรฐานว่าอะไรคือความปกติ พอเราอาศัยมาตรฐานว่าอะไรคือความปกติ เพื่อไปตัดสินว่าอะไรพิการหรือไม่พิการ มันก็เลยทำให้เข้าใจผิด คือ ความพิการที่เราเห็นมันคือพิการที่ misrecognize คือเข้าใจผิด ก็ถือว่าเป็นการไม่เคารพยอมรับ
อันนี้ก็เป็นสังคมวิทยา มานุษยวิทยา เขาเอาไปใช้ มานั่งหากันว่าในสังคมใช้มาตรฐานความปกติคืออะไร อย่างในตะวันตกเขาอาจบอกว่า คนปกติคือ ต้องเป็นผู้ชาย เป็นคนผิวขาว รักเพศตรงข้าม มีอายุในวัยผู้ใหญ่ มีร่างกายสมบูรณ์ ดังนั้นถ้าใครไม่เข้า 5 องค์ประกอบนี้ ถือว่าเป็นคนไม่ปกติหมด ดังนั้นผู้หญิงจะไม่มีวันเป็นคนปกติ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเห็นผู้หญิง เราก็ Identify ได้ว่าเป็นผู้หญิงแต่ที่จริง misrecognize เพราะว่าไปเข้าใจผู้หญิงตามมาตรฐาน อันนี้ก็เหมือนกัน เรามีมาตรฐานตามปกติว่าต้องเป็นผู้ชายผิวขาว ร่างกายปกติ อยู่ในวัยผู้ใหญ่ แต่พอเราเห็นคนนี้พิการ ก็คือเขาไม่ใช่คนที่มีร่างกายปกติ คนที่มาท้าทายเลยบอกว่า ที่จริงความปกติไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่อยู่ที่สิ่งแวดล้อม อย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้นวิธีไปดูเรื่อง “ความเป็นธรรม” ก็คือไปตั้งคำถามมาว่า ตกลงมาตรฐานที่เขาใช้ Identify คืออะไร เพราะมาตรฐานนั้นจะทำให้เกิดการ misrecognition พอ misrecognition ก็ไปปฏิบัติต่อเขาผิด มาตรฐานของเราคือ คนไทยต้องเป็นคนไทย พูดภาษาไทย นับถือพุทธ ถ้าใครไม่เข้านิยามนี้ ก็เลยบอกว่าไม่ใช่คนไทย พอไม่ใช่คนไทยเราก็เลยปฏิบัติต่อเขาไม่ดีได้ ยกตัวอย่างกรณีของชาวเขากับคนมุสลิมภาคใต้ ตรงกับนิยามที่ว่าอะไรไม่ใช่คนไทยอย่างชัดเจน อันนี้คือสิ่งที่ต้องไปค้นหาตลอดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด misrecognition แต่บางทีก็จะค้นหายากมาก เช่น ตอนนี้เราเป็นสมาคมอาเซียน มาตรฐานที่ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้คือ ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ สำหรับในวงวิชาการ ใครพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ไม่ใช่คน แล้วทำไมตลกคาเฟ่พูดภาษาอังกฤษแล้วเราหัวเราะ เพราะเขาเป็นคนครึ่งคน แล้วมาพูดในสิ่งที่คนเต็มคนใช้ ต่อไปพอเป็นอาเซียน จะตลกกว่า คนรับใช้ชาวฟิลิปปินส์สามารถพูดภาอังกฤษได้ อย่างมหาวิทยาลัยมหิดล ให้เขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นจะผิดหมดเลย เพราะอาจารย์ไม่กล้าท้วงกัน เพราะว่าถ้าไปท้วง เดี๋ยวเป็นการไม่เคารพยอมรับเขา ดังนั้นก็ต้องปล่อยให้ผิดไป เพราะมาตรฐานปกติของเราคือ ถ้าเป็นคนที่ใช้ได้ต้องรู้ภาษาอังกฤษ ทีนี้พอเปลี่ยนบริบท ก็มีคำถามตามมาว่าอะไรคือมาตรฐานปกติอันนั้น บางอย่างเราก็พูดบ่อย ถ้าเป็นคนไทยเราก็ต้องพูดภาษาไทยชัด ต้องกินข้าวสวย ต้องนับถือพุทธ แต่ถ้าไม่เข้านิยามนี้ ไม่ใช่คนไทย ก็เกิด misrecognition ก็เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น
ข้อควรระวังสำหรับ recognition
ข้อควรระวังสำหรับ recognition คือ สมัยนี้การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา บางทีจุดหมายไม่ไปเป็นเรื่องของการกระจายภาระและผลประโยชน์มากเท่าที่ควร หลายคนเห็นอย่างนั้น อย่างเช่น ตอน เหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 (nine one one) มีคนออกมาเดินขบวนกันมากมาย แล้วถามว่า คุณเดินขบวนคุณจะเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลืออะไรหรือเปล่า เขาก็บอกเปล่า เขาไม่อยากได้อะไร แต่พวกเรามาเดินขบวนเพื่อต้องการให้คน recognize ว่า พวกเรามีญาติที่ถูกกระทำจนตายบนตึกเวิร์ลเทรด คือสุดท้าย recognition กลายเป็นจุดหมายสูงสุดของการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรม การทำเช่นนี้อย่างน้อยก็ทำให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าพวกเขามีญาติที่ตายบนตึกเวิร์ลเทรดจากเหตุการณ์ nine one one เมื่อทุกคนรับรู้ พวกเขารู้สึกเป็นธรรม พวกเขาได้รับ recognition แล้ว
บางคนก็รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมเพราะเราไปดูถูกอัตลักษณ์ของเขา ไม่ recognize แต่บางทีเราไปเน้นอัตลักษณ์ของเขามากเกินไป ก็เลยมองข้ามเรื่องการกระจาย ผลประโยชน์ และภาระ
- Pathological struggle for recognition”
– สิ่งนี้ไม่ยุติธรรม เพราะ เป็นการไม่เคารพนับถือฉัน (เรา)
- ต้องชื่นชมนับถือตลอด
- อ้างความดีงามที่ไม่มีในตน
มีอีกกลุ่มหนึ่งหลุดสเกลอันนี้ไป จนเกิดเป็นการเรียกร้อง recognition จนเป็นพยาธิสภาพ “Pathological Struggle for recognition” อันนี้เป็นสิ่งที่ใช้ภาษาไทยอธิบายได้ว่า สิ่งนี้ไม่ยุติธรรม สิ่งนี้ผิด เพราะไม่เคารพนับถือฉัน อันนี้กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ตัวอย่างเมื่อยิ่งลักษณ์ได้เป็นรัฐบาล ใครไปวิจารณ์ไม่ได้ นักข่าวถามผิดไม่ได้เลย กลุ่มเสื้อแดงไล่ล่ากันใหญ่โต อันนี้ถือว่า Pathological แล้ว เธอไม่เคารพนับถือฉัน ดังนั้นจึงไม่ยุติธรรม อันนั้นเป็นพยาธิสภาพแล้ว ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเท่านั้น ที่อื่นก็มี แต่เกิดชัดคือกรณีเสื้อแดง
ถ้ามันเป็น “พยาธิสภาพ” สังเกตอย่างไร สังเกตว่ามันเกินไปแล้ว เพราะคุณไม่เพียงแค่เคารพยอมรับให้ฉันดำรงอยู่ได้ แต่ต้องนับถือฉันด้วย ฉันพูดอะไรต้องถูกหมด ต้องนิยมยกย่องฉันด้วย และห้ามพูดสิ่งไม่ดีเกี่ยวกับฉัน ที่ต่างประเทศก็มีกรณีแบบนี้ แล้วในที่สุดก็อ้างความดีงามที่ตนเองไม่มี ดังนั้นถ้าเราไปช่วยคนเคลื่อนไหวเพื่อให้เขาได้รับ recognition ให้ระวังด้วยว่า อย่าช่วยเขาเคลื่อนไหวจนกระทั่งเขาป่วย เกิดเป็นพยาธิสภาพว่าฉันดีตลอด ฉันเลอเลิศ ซึ่งคนหลายคนที่เป็นเสื้อแดง อยู่ในลักษณะที่ป่วยแล้ว เพราะว่าเป็นพยาธิสภาพแล้ว พูดเรื่องไม่ดีเกี่ยวกับตนเองไม่ได้ หลายคนก็ไปช่วย โดยบอกว่าเขาถูกกดขี่ เขาไม่ได้รับ recognize เขาไม่ได้รับการเคารพยอมรับ บางทีเราช่วยมากไป ยาแรง เลยกลายเป็นพยาธิสภาพไป อันนี้คือข้อควรระวัง
อันนี้คือ recognition ในส่วนที่เกี่ยวกับความยุติธรรม จะเป็นเรื่องของความหมายมาก ๆ เป็นเรื่องของอัตลักษณ์ ทำไมเขาไม่เคารพยอมรับเราอย่างที่เราเป็น
ช่วงทบทวนบทเรียน วันที่ 28 เมษายน 2555
โดย ปกรณ์ สิงห์สุริยา
ผมจะขออนุญาตทำ 2 เรื่องคือ 1. ทบทวนจากที่ได้รับฟังกันไปเมื่อวาน และ 2. วิเคราะห์กรณีเล็ก ๆ
ประเด็นที่ 1. ทบทวนจากที่ได้รับฟังกันไปเมื่อวาน
ประเด็นแรก เราอาจจะต้องทำความชัดเจนก่อนว่า ตกลงโครงการนี้ต้องเกี่ยวกับความยุติธรรมหรือความไม่เป็นธรรม พอได้รับฟังจากเมื่อวาน ดูเหมือนบางทีก็พูดเรื่องของความยุติธรรมและเรื่องอื่น ๆ ไม่ได้เจาะจงอยู่ที่ความยุติธรรมอย่างเดียว ผมอาจจะพูดซ้ำกับอาจารย์ปิยฤดีนิดหนึ่ง แต่ผมจะใช้คำที่ต่างออกไป คือผมจะไม่ใช้คำว่า concept หรือ conception ผมจะใช้อีกคำหนึ่ง คือถ้าเราอยากจะแน่ใจว่าเรากำลังพูดเฉพาะเรื่องความยุติธรรมจริง ๆ เราจะดูอย่างไร
ความยุติธรรมโดย concept ของมัน โดยแก่นของมันมีอยู่สั้น ๆ ว่า “ทุกคนที่มีคุณสมบัตินี้ต้องได้อันนี้” นี่คือความยุติธรรมโดยกระดูกของมัน ทุกคนที่มี ก ต้องได้ ข เพราะฉะนั้นจะไม่ยุติธรรมถ้ามีบางคนมี ก แล้วไม่ได้ ข หรือไม่มี ก แต่ได้ ข ดังนั้นมันก็เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้น ดังนั้นความยุติธรรมก็มีแค่นี้เอง ทุกคนที่มีอันนี้ ต้องได้อันนี้ การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นเมื่อ เขาไม่มี แต่ดันได้ หรือ เขามีแต่ดันไม่ได้ ความยุติธรรมเป็นเรื่องเท่านี้เอง
สำหรับทฤษฎีความยุติธรรมต่าง ๆ ประโยชน์นิยม เสรีนิยม เรามาเถียงกันว่า แล้ว ก ที่ว่านี้คืออะไร อะไรเป็น ก ได้ อย่างของ Aristotle ก็มาเถียงว่า อะไรเป็น ก อันนี้ได้บ้าง เพื่อคนจะได้รู้ต่อไปว่าแล้ว ข ที่จะได้ ควรจะเป็นอะไร หรืออีกคำถามหนึ่งที่มาถามก็คือ อันนี้มันเป็น ก ได้ไหม กล่าวคืออันนี้จะเอามาใส่ในเรื่องความยุติธรรมได้ไหม อย่างในส่วนของผมคือเรื่อง “อัตลักษณ์” สมัยก่อนคนที่มาเรียกร้องเกี่ยวกับอัตลักษณ์ ไม่เกี่ยวกับความยุติธรรมเลย อย่างเช่น หญิงชาวมุสลิมเรียกร้องขอคลุมผม ดูแล้วไม่เห็นเกี่ยวกับความยุติธรรมเลย แต่ตอนหลังก็มาบอกว่า ที่จริงมันเกี่ยวนะ อัตลักษณ์มันเป็นเรื่องของความยุติธรรม ดังนั้นฝ่ายปรัชญาก็ต้องไปทำหน้าที่แจกแจงว่า ก มีอะไรบ้าง แล้วอันนี้เป็น ก ได้ไหม ถ้าคุณคิดว่ามันเป็น ก ได้ แล้วจริง ๆ มันเป็นได้ไหม เท่านั้น นี่คือเรื่องของความยุติธรรม
เมื่อวานที่ได้ยิน ก็จะมีว่า บางทีเกินความยุติธรรมไปมาก เช่น อะไรไม่ถูกต้องถือว่าเป็นความไม่เป็นธรรมหมด ซึ่งบางทีไม่จริง บางทีไม่ถูก แต่มันไม่เกี่ยวกับเรื่องของความยุติธรรม ยกตัวอย่างเช่น ความรุนแรงเชิงกายภาพ เช่น อยู่ดี ๆ ก็เข้ามาตัดไม้ยางของชาวสวนไป มันก็เป็นความรุนแรงในเชิงกายภาพ ก็เกิดความรุนแรงขึ้น ถูกต้องไหม เขาทำไม่ถูกต้องเพราะเขามาละเมิดทรัพย์สินของเรา แต่เกี่ยวกับความยุติธรรมไหม มันยังไม่เกี่ยว มันจะเกี่ยวเมื่อได้ไปร้องเรียนแล้วไม่มีใครทำอะไร กล่าวคือทุกคนที่ถูกละเมิดจะต้องได้รับการเยียวยา คนที่ถูกละเมิด แต่ไม่ได้รับการเยียวยา จึงเกิดความไม่ยุติธรรมขึ้น เพราะฉะนั้นความไม่ยุติธรรมจึงเลยไปอีกระดับหนึ่ง คือไม่ใช่อยู่ที่ความไม่ถูกต้อง มันต้องไปอีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราต้องไปตกลงกันให้ชัดเจนว่า ความยุติธรรมที่พูดคืออะไรบ้าง ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่า ทุกอย่างไม่ยุติธรรมหมดเลย
อีกอันหนึ่ง มันฟังดูคล้าย ๆ กับความยุติธรรม แต่ที่จริงมันไม่ใช่ คือคำว่า “ชอบธรรม” เมื่อวานอาจารย์ชัยยนต์ได้พูดชัด แต่พอดีท่านเอามาโยงกับความเป็นธรรม คือการให้เหตุผลสนับสนุนว่าอันนี้ควรทำ อันนี้มีความชอบธรรมที่จะทำ มันก็คือเรื่องของความชอบธรรม ยกอะไรมาก็ได้ มาสนับสนุนว่าอย่างนี้มันชอบธรรม เพราะฉะนั้นทำได้ แต่ความชอบธรรม ไม่ใช่ความเป็นธรรม มันคนละเรื่อง ความเป็นธรรมอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมมันถึงชอบธรรมที่จะทำ แต่เหตุผลอื่นที่ว่ามันชอบธรรมที่จะทำ มันมีอีกหลายเหตุผล บางทีเหตุผลอาจจะไม่เกี่ยวกับความยุติธรรมเลยก็ได้
สิ่งที่เราจะทำได้ตรงนี้อาจจะบอกว่า ทุกกรณีที่ชอบธรรมต้องเป็นธรรม คืออันนี้เราถึงจะเอาความยุติธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องได้ นี่คือประเด็นแรกที่ผมฟังเมื่อวาน แล้วกลับเอามาคิด ถ้าโครงการนี้เน้นที่ความไม่เป็นธรรม เราก็อาจจะต้องแยกออกมา ไม่ใช่ว่าจะจริงอันอื่น แต่ว่าต้องแยกให้ชัดว่า อันนี้คือความไม่เป็นธรรม อันนี้คือความไม่ถูกต้อง มันได้เป็นธรรมแล้วหรือยัง แล้วมันจะไปสัมพันธ์กับความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องของการให้เหตุผลเพื่อสนับสนุนอะไรบางอย่าง คือเป็นความชอบธรรม แต่มันมีมุมเดียวกับความชอบธรรมอย่างไร
ประเด็นต่อมา เมื่อได้รับฟังกรณีของโครงการย่อยต่าง ๆ แล้วรู้สึกหมดความหวัง แทบอยากลาออกจากประเทศไทย เมื่อฟังดูแล้ว ดูเหมือนคำถามวิจัยมีหลายคำถาม และที่อาจารย์ปิยฤดีตอบไปแล้ว ผมเห็นด้วยมาก ผมจะลอง list ออกมาว่าผมได้ยินคำถามอะไรบ้าง
คำถามที่ 1. เป็นคำถามที่เกี่ยวกับทางปรัชญา
“อันนี้” มันเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม แต่หลายคนบางทีไม่ต้องถาม ก็รู้สึกได้คำตอบแล้วว่ามันไม่เป็นธรรม ปรัชญาจะมาเกี่ยวตรงที่ว่า อันนี้มันเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม ทำไมถึงเป็นธรรม หรือทำไมถึงไม่เป็นธรรม เมื่อเกิดข้อสงสัยว่าทำไมมันเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม เราถึงเอา concept มาจับ หรือเวลาคนฟัง เรา แล้วไม่เข้าใจว่า อันนี้ไม่เป็นธรรมหรือ เราก็ต้องเอา concept มาอธิบาย เขาก็จะได้เข้าใจว่า มันไม่เป็นธรรมในมิตินี้ ไม่ว่าจะเป็นเสรีนิยม ประโยชน์นิยมก็ตาม ตรงนี้คือที่ปรัชญาจะเข้ามาเกี่ยว แต่ถ้าเราแน่ใจแล้วว่าไม่เป็นธรรม บางทีมันอาจจะชัดในตัวเอง เราก็ไม่ต้องเอา concept มาใช้ แต่บางทีมีกรณีอย่างที่ท่านอาจารย์ว่ามา บางทีมันก็ไม่เป็นธรรมแน่ ๆ แต่คนดันไม่เข้าใจว่ามันไม่เป็นธรรม แล้วบางทีความไม่เป็นธรรมนั้นก็ชัดเจน เช่น กรณีบุกรุกที่ดินเหมือนกัน แต่คนรวยอยู่ได้ แต่คนจนอยู่ไม่ได้ อันนี้มันก็ชัดเจนโดยไม่ต้องอธิบาย เพราะมันชัดเจนว่าไม่เป็นธรรม แต่ถ้าคนยังไม่เข้าใจหรือไม่เห็น อันนี้ก็ต้องไปทำอีกเรื่องหนึ่ง เช่น ช่องทางสื่อสาร หรือเปิดเวทีสาธารณะให้คนเข้ามารับรู้ มาเข้าใจ
นี่เป็นคำถามแรก แต่ว่าคนอาจจะไม่ค่อยถามนัก คือ เป็นธรรมไหม ทำไมถึงเป็นธรรม ทำไม่ถึงไม่เป็นธรรม เพราะส่วนใหญ่ที่คิดคือ มันไม่เป็นธรรมไปแล้ว แต่พอมันไม่เป็นธรรมไปแล้วก็ต้องกลับไปประเด็นแรกที่ผมพูดคือ เอาให้ชัดว่ามันไม่เป็นธรรมจริง ๆ หรือมันไม่ถูกต้อง หรือว่าเป็นอย่างอื่น
คำถามที่ 2. ที่ผมได้ยินคือ เป็นเรื่องของลักษณะที่ว่าไม่เป็นธรรมมันมีลักษณะอย่างไร
ซึ่งตรงนี้บางที concept ก็มาช่วยได้ แต่คือมาช่วยทีหลัง คือต้องไปนั่งเก็บมาก่อนว่า ทำไมถึงไม่เป็นธรรม แล้วเอา concept มาจำแนกว่า อันนี้ไม่เป็นธรรมแบบนี้ อันนี้ไม่เป็นธรรมแบบนี้ อันนั้นไม่เป็นธรรมแบบนี้ เอาทฤษฎีมาจำแนกว่าทำไมมันไม่เป็นธรรมอย่างนี้ อย่างนั้น ซึ่งอันนี้รู้สึกว่าจะมีรายละเอียดมากในที่นี้ อย่างที่บอกมาตั้งแต่แรก ฟังแล้วรู้สึกหมดหวัง
คำถามที่ 3. ทำไมมันถึงเกิดความไม่เป็นธรรมนั้น แล้วทำไมความไม่เป็นธรรมอย่างนี้ มันถึงคงอยู่ได้
อันนี้เป็นเรื่องกลไกแล้ว ซึ่งต้องอาศัยนักวิจัยทั้งหลายเหล่านี้ ซึ่งท่านจะรู้ข้อมูลมาก ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับปรัชญา
คำถามที่ 4. คือ แก้อะไรได้บ้างแล้ว แล้วได้ผลหรือไม่ ทำไมได้ผล ทำไมไม่ได้ผล
รู้สึกว่าเมื่อวานฟังคือว่าไม่ได้ผล ทุกวิธีไม่ได้ผลหมด ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงเกิดเป็นคำถามที่ 5
คำถามที่ 5. คือ แล้วจะแก้อย่างไรให้ได้ผล ที่ผมฟังเมื่อวาน รู้สึกมีความถามเยอะไปหมด แต่ว่าคำถามบางอย่างก็เกี่ยวกับครั้งนี้ ส่วนคำถามอื่นก็อาจจะเกี่ยวกับครั้งหน้า หรือครั้งต่อไป เมื่อวานรู้สึกว่ามีคำถามเยอะมาก
แล้วหน้าที่ทาง “ปรัชญา” จะเป็นอะไรได้บ้าง ผมลองมาคิดดู เมื่อวานก็จะมีว่า อันนี้ไม่ต้องเริ่มจากทฤษฎี ไปเริ่มจากข้อมูลได้เลย คือ คนก็จะให้เหตุผลต่าง ๆ กันว่า ทำไมอันนี้เป็นธรรม ทำไมอันนั้นไม่เป็นธรรม ตรงนี้ปรัชญาก็จะมาช่วยได้ คือ
หน้าที่ที่ 1. ส่วนแรกคือมา “ช่วยจัดระบบความคิด” และในที่สุดก็อาจจะเกิดทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรม หรือไม่เกิด ไม่มีใครรู้ แต่มาช่วยจัดระบบความคิดได้ เรียกว่ามาช่วย formalize ได้ว่า ทำไมเป็นธรรม หรือทำไมไม่เป็นธรรม ส่วนที่สองคือ ”ช่วยสร้างระบบความคิด” โดยอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เก็บมาได้จากคนทั้งหลาย
หน้าที่ที่ 2. ที่ช่วยได้ แต่คราวนี้อาจจะไปอีก step หนึ่ง อย่างเมื่อวาน ที่บอกว่า การให้ความชอบธรรมว่าทำไมคนเคลื่อนไหวอย่างนี้ อย่างนั้น มีการอ้างแนวคิดใหม่ ๆ เช่นคำว่า “สิทธิชุมชน” แล้วก็มีปัญหาว่า แล้วอะไรคือพื้นฐานของแนวคิดสิทธิชุมชน ตรงนี้ปรัชญาก็จะมาช่วยได้ แต่ตรงนี้ก็น่าสนใจว่าเราจะทำอย่างไร ไปดึงของฝรั่งมาหรือ เพราะเวลาคนไทยเจอ concept ใหม่ ๆ วิธีที่คนไทยทำคือมักไปดึงของฝรั่งมา เมื่อบอกว่าอันนี้ฝรั่งคิด ทุกคนก็จะเชื่อทันที
สาเหตุหนึ่งที่ปรัชญาในประเทศไทยไม่เจริญเพราะเราไม่ต้องคิด เราให้ฝรั่งคิด แล้วเราก็ไปขอเขามา เรียกได้ว่าระบบการศึกษาของเราเป็นแบบต่อท่อ คือต่อท่อไปให้ถึง ต้นทางมีอะไรก็ใส่ท่อเข้ามา แล้วบางทีท่อมันเดินยาว 20 ปี พอมาถึงเราปีนี้ ทางโน้นเขาก็เลิกใช้กันแล้ว แต่ถ้าเราอยากจะทำเอง ก็อาจจะเป็นไปได้ มี concept ใหม่ ๆ อย่างเช่น สิทธิชุมชน ทรัพย์สินของหมู่บ้าน ไม่ใช่ทรัพย์สินของปัจเจก และไม่ใช่ทรัพย์สินของสาธารณะ แต่เป็นทรัพย์สินของหน่วยใหม่คือหมู่บ้าน ทีนี้มันมีฐานคิดทางปรัชญาอะไรไหม อันนี้ปรัชญาก็เข้ามาช่วยได้
หน้าที่ที่ 3. อีกอันที่มาช่วยได้ อย่างที่อาจารย์สุวรรณาพูดถึงครั้งที่แล้วคือ “ช่วยตีความใหม่” การช่วยตีความใหม่ ก็อย่างที่เอาของพุทธมาตีความใหม่ให้เป็นความเป็นธรรม หรือในทางกลับกันคือเอาความเป็นธรรมมาตีความใหม่ด้วยพุทธ
ที่จริงอันนี้ของเราทำได้ ถ้าใครรู้ปรัชญาก็ทำได้ ใช้กลวิธีเอา เราก็ไปรับ concept ตะวันตกมา แล้วก็สอดไส้ใหม่ ถ้าเราทำปรัชญาเป็น หลายครั้งเราเสียโอกาส อย่างเช่น “สิทธิมนุษยชน” เราสามารถมาตีความหมายให้เป็นพุทธได้ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” มาตีความใหม่ให้เป็นพุทธได้ อย่างที่แนะนำ วิธีการของเราคือไม่ต้องคิด เพียงแต่ไปดูว่าเขาทำอย่างไร เราก็ไปลอกมา อย่างที่ผมพูดเมื่อวานเรื่อง กฎหมายรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 ไปเจอนักกฎหมายมหาชนท่านก็บอกว่ากลุ้มใจมากเลยกับคำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่มันมาอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้ว แต่พอถามว่าแล้วทำไมมันมาอยู่ ก็ได้คำตอบว่า ลอกของเยอรมันมา ดังนั้นถ้าเราอยากจะทำ อันนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ปรัชญาช่วยทำได้
ประเด็นที่ 2. วิเคราะห์กรณีเล็ก ๆ
ผมขอพูดเรื่อง “ความไม่มีตัวตน” อย่างเมื่อถามว่าคนที่พิชิตเทือกเขาหิมาลัยคนแรกเป็นใคร สมัยก่อนเมื่อไปเปิดดูเราจะพบว่าเป็นชื่อฝรั่งหมด แต่ปรากฏว่าก่อนที่ฝรั่งจะไต่ไปถึง มีไกด์ชาวธิเบตไปปักเชือกให้ เลยสงสัยว่าไกด์ชาวธิเบตคนนั้น เราไม่นับว่าเป็นคนหรือ เพราะไม่มีใครบันทึกเลยว่าไกด์ชาวธิเบตคนนี้ไปถึงก่อน มีแต่บันทึกว่าฝรั่งไปถึงก่อน เพราะที่จริงฝรั่งไปเองไม่ได้หรอก เพราะหลงทางไปไม่ถูก ต้องให้ไกด์ธิเบตพาไป
อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นของมหาวิทยาลัยเอง มหาวิทยาลัยบอกว่าควรจะนับอะไรเป็นงานวิจัยบ้าง สกอ.บอกว่าต้องนับตีพิมพ์อย่างเดียว อย่างอื่นไม่นับเป็นงานวิจัย คนอื่นก็คัดค้านกันว่าไม่ต้องตีพิมพ์ก็ได้ เพราะก็ล้วนเป็นประโยชน์ ทุกคนฟังหมด แต่พอไปเปิดดูกฎระเบียบ เขาบอกว่าต้องตีพิมพ์อย่างเดียว ไม่อย่างนั้นไม่นับ บางคนทำงานแทบตาย เขาไม่นับเลย เท่ากับว่าผลงานเป็นศูนย์ ตกลงอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ไม่มีตัวตนได้เหมือนกัน ลองคิดดู นี่ในระบบมหาวิทยาลัยเอง คือไปว่ากล่าวได้ทุกคนยกเว้นระบบตัวเอง เราสู้ระบบไม่ได้ก็แพ้หมด ตกลงเสียงของเราก็ไม่มีใครได้ยิน
เหมือนกับเมื่อวานนี้ว่า คนไทย กระบวนการยุติธรรม ทุกอย่างเข้าไปหมด แต่เข้าไปเหมือนไปแต่ตัว ไม่มีวิญญาณ คือไม่ได้ผลอะไรเลย ก็แปลว่าปัญหาหลักของเราคือ คนยากจนหรือคนเพียงกลุ่มหนึ่ง ถูกถือว่าไม่มีตัวตน เหมือนยังไม่ใช่คน
ทีนี้ก็เลยกลับมาที่ทฤษฎีที่ผมพูดว่า เรื่อง “เคารพยอมรับ” หรือ “Recognition” อย่างที่ผมบอก การเคารพยอมรับหรือ recognize ที่มันมีความหมายไปแทนจริง ๆ คือ “เคารพนับถือ” แต่เคารพนับถือไม่เกี่ยวกับความยุติธรรม ใครที่ไม่เคารพนับถือเราก็ไม่ถือว่าไม่เป็นธรรม แต่ถ้าเราเป็นคนดีจริงแล้วเขาไม่นับถือเรา ก็ถือว่าเขาไม่มีสัมมาคารวะ หรือว่าเขาไม่กตัญญู แต่ถ้าเราเป็นคนเลวแสนเลว แล้วเขาไม่เคารพนับถือเรา ก็ถือว่าถูกต้องแล้ว แต่เราเลวแล้วไปเรียกร้องให้เขาเคารพเรา แสดงว่าเรามีพยาธิสภาพบางอย่างคือ ป่วย เช่น คนบ้าอำนาจ แต่ว่า “เคารพนับถือ” มันไม่เกี่ยวกับความเป็นธรรม แต่มันมีใช้อยู่ในคนไทย
แต่คำว่า “เคารพยอมรับ” เมื่อรับฟังเมื่อวาน รู้สึกว่าไม่มีการใช้ความหมายนี้ในประเทศไทย จึงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ทางออกมันก็เหมือนกับทำท่าว่า ถ้าปัญหามันไม่มีตัวตน ก็คือไม่มีตัวตน แต่จะทำอย่างไรให้มีตัวตน ใส่ลงไปในกฎหมายแล้วก็ไม่มี ทุกอย่างขึ้นอยู่กับดุลยพินิจหมด ก็เลยไม่มี ถ้าเราไปดูทางตะวันตก หน้าที่ของปรัชญาที่เกี่ยวกับตรงนี้เป็นอย่างไร หน้าที่แรก อย่างที่พูดตั้งแต่ต้น เขาบอกว่า หน้าที่ปรัชญาคือไปบอกว่า ตัวตนเกี่ยวกับความเป็นธรรม และคนเหล่านี้ซึ่งไม่ใช่ผู้ชายผิวขาว มีตัวตนจริง ๆ และเป็นคนจริง ๆ ด้วย อันนี้คืองานหลัก ซึ่งทำมาเป็นเวลา 50 ปีของปรัชญา
และอีกอย่างคือ ไปบอกว่า แล้วทำไมเราไปคิดว่าเขาไม่มีตัวตน ก็คือไปศึกษา “กลไกของการสร้างความเป็นอื่น” และตอนหลังการศึกษา “กลไกของการสร้างความเป็นอื่น” ก็ขยายออกมา มีเป็นชุด เป็นแบบการศึกษาที่เยอะมาก ทั้งทางมานุษยวิทยา ทางสังคมวิทยา ว่า ทำไมคนอื่นที่ดูเหมือนคน จึงถูกสร้างให้ไม่เป็นคน ทำไมเขาพูดอย่างไรก็ไม่ได้ยิน อันนี้เป็นทางปรัชญา แต่ในที่สุดแล้ว จะมาถามว่า แล้วจะทำอย่างไรให้คนเห็นตัวตนของคนได้ ซึ่งอันนี้มันก็เกินปัญญาไปแล้ว จึงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ใช้วิธีเปิดพื้นที่ ออกทีวีทุกวันหรือเปล่า ถ้าถามผม ผมก็บอกให้ไปออกรายการเจาะใจ รายการตีสิบวิทวัส พอออกบ่อย ๆ คนก็จะเห็นตัวตนเอง
Fuego บอกว่า “วิธีเปลี่ยนระบบคือ ใช้สิ่งที่ระบบยอมรับ” ไปหารูที่ระบบยอมรับ แล้วเราก็เข้าไปตรงนั้น คือเราไม่ต้องเอาสิ่งใหม่เข้าไปในระบบ แต่เราไปใช้ของเดิมที่ระบบมีอยู่ ปัญหาก็คือ แล้วที่มีอยู่คืออะไร ผมเป็นคนเมืองก็คิดได้แค่รายการเจาะใจ รายการตีสิบวิทวัส แต่อันอื่นไม่ทราบ เพราะว่าจุดนี้เองที่ทักษิณเขาใช้ คือเขาใช้สิ่งที่มีอยู่ เช่น อุปถัมภ์มีอยู่ แล้วจะไปแก้ตรงนั้นยังไง ให้อุปถัมภ์มากขึ้น เป็นมหาอุปถัมภ์ ดังนั้นใช้สิ่งที่ระบบมีอยู่ เราก็จะเปลี่ยนได้ ดึงคนไปได้ แต่อันนี้ต้องอาศัยความรู้ทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยาเยอะมาก เมื่อวานที่รับฟังมา เห็นว่าสังคมก็เปลี่ยนไปด้วย ระบบที่มีอยู่มันเลยไม่นิ่ง แล้วเราจะไปหาอะไรมาใส่
Case นี้เกี่ยวกับที่ผมพูดเมื่อวาน ถ้าความยุติธรรม จุดเริ่มต้นอันหนึ่งคือ มันต้อง recognize การ recognize คือเขาต้องมีตัวตน เขาต้องเป็นคน แต่รับฟังเมื่อวานดูเหมือนไม่เป็นคนเลย ดูเหมือนรูปร่างเหมือนคนเท่านั้น แล้วทำอย่างไรจะให้เขาเป็นคนขึ้นมาได้ เราอาจจะมองดูอีกอย่างหนึ่งได้ไหม ถ้าบอกว่าต้องไปดูสิ่งที่มีในระบบ แล้วทำไมสังคมเห็นว่าคนรวยเป็นคน เช่น เวลาเวนคืนที่ดิน จึงเลี่ยงเว้นที่ให้คนรวยได้ หรือกรณีบุกรุกที่ดิน คนจนต้องถูกขับไล่ แต่คนรวยอยู่ได้ หรือ มันอาจจะมีคำตอบ แต่เป็นคำตอบที่ทำให้เราหมดหวัง สังคมเห็นคนนี้เป็นคนเพราะเขาจ่ายเงิน เขาจึงมีตัวตนเป็นคนขึ้นมา ถ้าเป็นดังนี้ก็หมดหวังแล้ว ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร วิธีแก้ก็คือ เอาเงินไปให้คนจน แล้วให้คนจนเอาเงินไปจ่ายข้าราชการ แล้วคนจนก็จะมีตัวตนขึ้นมา