ความไม่เป็นธรรมจากการพัฒนาอุตสาหกรรม กรณีภาคตะวันออก
ผศ.ดร.ชัยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
กรณีการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เริ่มตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้กรอบทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นวัฒนธรรมการพัฒนาอยู่ เพราะไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาฉบับไหนก็ตาม ชีวิตจริงก็ยังใช้รายได้มาเป็นตัวตั้งในการพัฒนา ภายใต้กระบวนการสะสมทุนของคนกลุ่มน้อย สำหรับในภาคตะวันออกเราก็เจอปัญหาตั้งแต่เริ่มมีแผนพัฒนาฯ โดยอุดมการณ์พัฒนาที่คู่มากับตรงนี้ก็จะบอกว่า ทำอะไรเพื่อความเจริญของชาติ ของส่วนรวม แล้วให้คนและชุมชนยอมรับ แต่ที่สุดแล้วเราก็ทราบว่าเป็นการสะสมความร่ำรวยของคนบางกลุ่ม การพยายามที่จะใช้อุตสาหกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนในภาคตะวันออก ทำด้วยการเติบโตแบบไม่สมดุลย์ ที่สำคัญคือในเชิงอำนาจ ซึ่งก็ก่อให้เกิดปัญหา
กรณีจังหวัดสมุทรปราการ เป็นอุตสาหกรรมเบา แต่ก็สร้างปัญหาหนักเหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานทอผ้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างที่ไม่มีใครควบคุมดูแล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 หลังจากนั้นภาคตะวันออกก็เป็นศูนย์กลางของการสะสมความมั่งคั่งของประเทศ ภายใต้โครงการ Eastern Seaboard ซึ่งผมอยากจะให้ดูตัวแบบหนึ่งคือ ตัวแบบมาบตาพุด (Maptaphut Model) มาบตาพุดเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนัก ทั้งลงทุนสูงและเป็นอุตสาหกรรมอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งคิดว่าจะแก้ปัญหาสมุทรปราการได้ แต่อุตสาหกรรมแบบนี้ก็เกิดขึ้นภายใต้การไม่มีส่วนร่วมของท้องถิ่น และจำเป็นต้องพึ่งทุนจากภายนอก เพราะทุนสูง และความต้องการที่จะร่ำรวยเร็ว ก็เลยต้องปล่อยให้มีอุตสาหกรรมก่อมลพิษ (Dirty Industry) เกิดขึ้นมา
อยากให้ดู ตัวแบบมาบตาพุด ในกระบวนการพัฒนา ผมได้สรุปประสบการณ์จากภาคตะวันออกในโมเดลมาบตาพุด ซึ่งเป็นโมเดลที่กระจายไปทั่วประเทศ มัน Input โดยนโยบายทุน เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ก็คือนายทุนข้ามชาติ จากนั้นคือญี่ปุ่น ปัจจุบันก็เริ่มเป็นนายทุนจีน มีนายทุนของชาติ ก็เป็น SCG เป็นต้น มีรัฐซึ่งแสดงบทบาทของทุนด้วย คือ รัฐวิสาหกิจ ปตท. ที่สำคัญคือนายทุนท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น เป็นการสะสมทุนที่สำคัญ ทุกคนได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรม โดยต้องทิ้งชาวบ้าน ยกเว้นคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ยังรักษาอยู่ ผลที่ตามมาคือรายได้สูงมาก แต่การมาของรายได้คือการสะสมทุนให้แก่กลุ่มคน 4 กลุ่มนี้ แต่ปัญหาตามมาคือ อุตสาหกรรมก่อมลพิษ (Dirty Industry) ก็ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นการแย่งชิงทรัพยากร และก่อมลพิษ อันนี้ก็เป็นการโยนภาระให้กับคนอื่น แล้วเกิดปัญหาสังคมที่เพิ่มขึ้น ที่สุดแล้วที่มาบตาพุด เป็นดินแดนที่หวาดระแวง นักวิจัยทั้งหลายทราบดี ไม่มีใครอยากเข้าไปมาบตาพุด มันเต็มไปด้วยความทุกทรมาน เพราะว่ามันมีความขัดแย้ง ความไม่ไว้วางใจเต็มที่
ความไม่เป็นธรรมที่อยากจะนิยามตรงนี้ ความไม่เป็นธรรมจากการกระจายทรัพยากรก็ว่าได้ มันเกิดภาวะเรียกว่า Zero-Sum Game คือมีกลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์จากความเดือดร้อนของชาวบ้าน โดยสรุป ผลของการพัฒนาให้ประโยชน์ฝ่ายหนึ่งจากการต้องเสียของอีกฝ่ายหนึ่ง เกิด Zero-Sum Game ปัญหาสามัญคือ 1. มีการกระจุกตัวของรายได้ 2. เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และ 3. เพิ่มปัญหาสังคม
มีตัวเลขทางราชการที่บอกว่า คนระยองมีรายได้ต่อหัวเป็น 1 ล้านกว่าบาทต่อคนต่อปี ตัวเลขปี พ.ศ.2551แต่เมื่อเราดูจากชีวิตคนระยอง ซึ่งอยู่ในภาคการเกษตรส่วนใหญ่ คนระยองไม่ได้ทำงานเป็นลูกจ้าง ลูกจ้างที่นี่ไม่ใช่คนระยอง ยกเว้นคนทำสวน ภารโรง และคนเฝ้ายามกลางคืนบางคน ส่วนใหญ่แล้วรายได้ยังอยู่ระดับเรือนหมื่นในอำเภอต่าง ๆ นี่คือชีวิตจริงคนระยอง ในเมื่อชาวบ้านไม่ได้ทำงานในโรงงาน ที่ดินก็โดนหลอกซื้อหมด คนไม่มีที่ดินไปไหนไม่รอด ก็ต้องอยู่และทำงานบริการต่าง ๆ ที่เห็นบ้านใหญ่ ๆ นั้นเป็นของนายทุนกรุงเทพฯมาลงทุน แต่ส่วนใหญ่ไปกู้เขามาลงทุนทำบ้านเช่า เราจะเห็นว่ารายได้มันไปกระจุกที่กลุ่มทุน และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับทุนคือชนชั้นกลาง บางคนเงินเดือนเป็นแสน เป็นล้านบาท แต่ผลที่ตามมา ผลเสียคือ การแย่งชิงทรัพยากร และ ปัญหามลพิษ
การแย่งขิงพื้นที่และทรัพยากร
ทุกพื้นที่มาบตาพุดเป็นพื้นที่สีม่วงเกือบหมด โดยที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลย วัดอ่าวประดูก็โดนแย่งพื้นที่ โรงเรียนก็ต้องย้ายหนีโรงงานบายเอ้อ โรงพยาบาลก็ต้องย้ายหนีโรงงานเจนโก้ นอกจากนั้นยังเกิด
- การกัดเซาะชายฝั่ง หาดระยองตั้งแต่แหลมเจริญไปประมาณหลายสิบกิโลเมตรพัง เพราะว่าไปถมที่ดินสร้างโรงงาน ตัวอย่างเช่น IRPC และชาวบ้านก็เดือดร้อน เพราะชายฝั่งพังหมด เมื่อไม่มีทางเลือกก็ต้องทำกำแพงกั้น หมดทางแล้วสำหรับการท่าฯ
- พื้นที่ป่าชายเลนเสียหาย ซึ่งเป็นป่าชายเลนเป็นแหล่งของชาวประมงก็ถูกแย่งชิงเหมือนกัน เกิดความเสียหาย ชาวบ้านพยายามใช้วิธีเอาผ้าเหลืองไปห่มต้นไม้ เพื่อบวชป่า ก็โดนแย่งชิงผ้าเหลืองไป
- น้ำ โดนแย่งน้ำ ปี พ.ศ.2548 การแย่งน้ำหนักมาก พวกเขาแย่งทุกอย่าง ท่อส่งน้ำก็มีความกว้างขนาดความสูงของคน 180 เซนติเมตร
ผลกระทบและความขัดแย้งทางสังคม
มีเพิ่มขึ้นตั้งแต่เรื่อง ปัญหายาเสพติด อุบัติเหตุ การจราจร ปัญหาตัวใครตัวมัน การแย่งบริการสังคม เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ประปา ปัญหาพื้นที่เสี่ยงทางสังคมมีถนนโลกีย์ และความขัดแย้งทางสังคม เรารู้สึกได้เลยว่า มาบตาพุดร้อนแรงมาก นักวิจัยเข้าไปรู้เลย
ความขัดแย้งทางสังคม ได้แก่ 1. ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับโรงงาน 2. ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานราชการ 3. ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน คือ ชุมชนขัดแย้งกันเอง แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายต่อต้านโรงงาน ไม่เอาโรงงานเลย กับ ฝ่ายที่ต้องการเจรจากับโรงงาน
สาเหตุ ปัจจัย และเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง
การสะสมทุน 2 กระบวน : การสะสมทุนในมาบตาพุดมันเป็นการสะสมทุน 2 ระดับที่สำคัญคือ “การสะสมทุนเบื้องต้น” เป็นประเด็นสำคัญ การสะสมความร่ำรวยจากกลไกทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ใช่การเอาเปรียบจากแรงงานโดยตรง เป็นประเด็นสำคัญ
การขยายตัวของอุตสาหกรรมตามตัวแบบมาบตาพุด : ผมอยากแจ้งให้ทราบว่า ตอนนี้มันขยายตัวแบบมาบตาพุดออกไป พิจารณาจากปลายสุดของภาคตะวันออก เช่น จังหวัดตราด กำลังจะสร้างโรงงานนิวเคลียร์ จังหวัดจันทบุรี กำลังสร้างโรงงานถลุงเหล็ก พื้นที่ 30,000 ไร่ จังหวัดระยองกำลังจะเพิ่มอุตสาหกรรมเต็มเมืองระยอง จังหวัดชลบุรี มีนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลกระทบย้อนกลับไปที่คนเลี้ยงปลา คนทำประมง จังหวัดฉะเชิงเทรา กำลังจะตั้งโรงงานไฟฟ้า และมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอีกที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น
ตัวแบบทางเลือกในการพัฒนาอุตสาหกรรม
ในการที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ ผมขอเสนอเป็นเค้าโครง Concept เรามีอาจารย์ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะช่วยกันคิด ได้แก่
1. ความยั่งยืนของท้องถิ่น (Local Sustainability) : ทำอย่างไรจึงจะเกิดความยั่งยืนของท้องถิ่น เพราะปัจจุบันปัญหาของภาคตะวันออกคือ 1.ปัญหาดิน น้ำ ป่า และขยะมลพิษ 2. ปัญหาหนี้สิน จากการถูกบีบของการพัฒนา เพียงแต่สวนยางพาราก็พอช่วยพยุงไว้ระดับหนึ่ง นี่คือปัญหายั่งยืนชนบท
2. ความยุติธรรมเชิงนิเวศ (Eco-Justice) : เป็นเรื่องอุดมการณ์ใหม่ เรื่อง “นิคมนิเวศ” ตัดทิ้งไปได้เลย เพราะว่าคนที่เสนอคนแรกคือ บริษัทเจนโก้ เป็นอุบายที่จะปิดบังการดำเนินการที่แท้จริง มีชื่อนี้ไว้เพื่อเป็นวาทกรรม และเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็ไม่เพียงพอ อาจารย์ปรีชาเสนอให้เอา “มิติความยุติธรรม” (Eco-Justice) เข้ามา ในเบื้องต้นแล้วปัญหาแรกคือ Win-Win กับ Distributive Justice อาจจะเป็นประเด็นสำคัญ คือทำอย่างไรที่จะให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ เบื้องต้นคือ ความยุติธรรมทางนิเวศ (Eco-Justice)
3. กระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบมีส่วนร่วม (Participatory Development) : กระบวนการใหม่ ถ้าไม่เอาม็อบ จะเอาอะไร ผมว่าต้องเอา “การมีส่วนร่วม” ผมคิดว่า 2 อย่างที่น่าพิจารณาคือ กลไกการมีส่วนร่วม และ 2. กระบวนการการมีส่วนร่วม สำหรับกลไกการมีส่วนร่วม ผมคิดว่า มันไม่ค่อยมีของภาคประชาชน แต่ลองคิดดู ปัจจุบันนี้เรามีกลไกที่ทำอยู่ แต่ไม่ค่อยดี แต่แนวคิดดี อย่างเช่น สภาองค์กรชุมชน แนวคิดดี แต่ทำงานไม่ค่อยดี กลไกอย่างเช่น ชนชั้นกลางในภาคตะวันออก พระอาจารย์สุบินก็ต้องมาตั้งเป็นสมาคมเพราะว่าทำอะไรไม่ได้ ผู้ใหญ่วิบูลย์ก็ต้องตั้งเป็นมูลนิธิวนเกษตร เพื่อให้เคลื่อนงานได้ ดังนี้เป็นต้น กลไกเหล่านี้ อาจจะเป็นกลไกที่สำคัญ แล้วก็กลไกของคุณหมอนิรันดร์ กรรมการสิทธิ ก็สำคัญมากในภาคตะวันออก ถ้าไม่ถูกยุบเสียก่อน
กระบวนการพัฒนาการมีส่วนร่วม : ต้องเน้นการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในรัฐสภา หรือในกระบวนการยุติธรรม เช่น ศาลปกครอง
4. การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ (Public Policy Process) : ผมคิดว่าพื้นที่ใหม่ของการต่อสู้ภาคประชาชน ต้องทำงานระยะยาวมากขึ้น ผมอยากใช้คำว่า การขับเคลื่อนในพื้นที่สาธารณะใหม่ ก็คือ กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้ มันไม่ใช่แค่การไปกำหนด แต่มันต้องตามตั้งแต่สร้าง จนถึงการผลักดันให้เกิด จนกระทั่งเกิดผลลัพท์ จนกระทั่งปรับเปลี่ยนแนวใหม่
5. วิธีวิทยาการศึกษาท้องถิ่น (Local Study) : คือ 1.ท้องถิ่นศึกษา : ความรู้ท้องถิ่น ที่มันจะต้องปรับวิทยาการศึกษาเพิ่มขึ้น คือการอธิบายจากตำรา ไปสู่ท้องถิ่น ผมคิดว่าอาจจะไม่ค่อยได้ประโยชน์นักตอนนี้ การอธิบายจากทฤษฎีใหญ่ ๆ ไปสู่ท้องถิ่น ผมคิดว่าไม่ค่อยทำให้เกิดการขับเคลื่อนนัก ทำอย่างไรจึงจะมีวิธีการหาความรู้ที่มันเริ่มจากชีวิตจริงภายในท้องถิ่น อย่างเช่น ท้องถิ่นในปัจจุบัน มันเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่อยู่ในตำบล ไม่ต้องเรียกร้องให้เขามีส่วนร่วม เพราะเขาต้องการมีส่วนร่วมอยู่แล้ว เพราะมันปัญหาเยอะ
2. ชุมชนศึกษา : การแตกตัวของกลุ่มต่าง ๆ ท้องถิ่นไม่ใช่ภาพ ส.ค.ส. แต่มีการแตกตัวกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นมาภายในท้องถิ่น แล้วเป็นชนชั้นนำท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับตำบล เป็นต้น
ความไม่เป็นธรรมจากการพัฒนาอุตสาหกรรม กรณีพลังงาน
ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย : สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประเด็นที่ผมจะพูด ผมจะโยงเรื่องนิวเคลียร์กับสังคมเข้าด้วยกัน เป็นการนำเสนอแบบเชิงทดลอง ยังไม่ใช่งานวิจัย แต่เป็นงานที่ศึกษาดูว่า ช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ที่เกิดเรื่อง จนกระทั่งถึงเดือนนี้ มันเกิดอะไรบ้าง และมันจะสะท้อนให้เห็นโจทย์ทางสังคมวิทยาอย่างไร โดยหลักก็คงจะไม่มีการเสนอทางออกเสียทีเดียว แต่ทำให้เห็นว่า ตัวเนื้อหาวิชาซึ่งดูเหมือนจะไกลกันเหลือเกิน ฟากหนึ่งก็เป็นฟากวิทยาศาสตร์ ก็คงบอกได้หมดว่าโรงไฟฟ้ามันทำงานอย่างไร แต่อีกฟากสังคมก็บอกว่าปัญหานี้จะเกี่ยวข้องอย่างไร อย่างน้อยเราก็สัมผัสได้ระดับหนึ่งว่า ถ้าเกิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลีนร์มาตั้งแถวบ้านเรา เราก็คงจะไม่ยินดีนัก
เมื่อวานก็มีข่าวเรื่องโรงไฟฟ้าที่เวียดนามว่าตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแผ่นดินไหว โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมะ ที่ญี่ปุ่น ตอนนี้ข่าวดูเหมือนว่าเงียบไป แต่มันก็ยังปรากฏอยู่ว่า ความร้อนที่เปล่งออกมาเรื่อย ๆ จากโรงไฟฟ้า การทำให้มันเย็นลงไม่ง่ายนัก เพราะว่าเขาต้องเอาน้ำไปหล่อเย็นตลอดเวลา และน้ำนั้นก็จะมีการปนเปื้อนรังสี ดังนั้นเขาต้องมีการบำบัดน้ำตัวนี้ ให้มันเป็นน้ำที่สะอาดเหมือนเดิม ซึ่งก็คือว่า ปริมาณของมันก็เป็นระดับหมื่นตัน ซึ่งมันทำยาก ซึ่งก็ใช่ว่าวิศกรรมของแต่ละประเทศจะมีการรองรับได้ดี เขาทดลองเครื่องทั้งของญี่ปุ่นเอง ก็ไม่ได้ผล ไปยืมเครื่องของสหรัฐอเมริกาก็พัง ไปยืมเครื่องของฝรั่งเศสมาก็พัง ของเยอรมันมาก็พัง ก็ต้องแก้กันไปเรื่อย ๆ แต่สถานการณ์ปัจจุบันนี้ก็เสถียรภาพขึ้นมาบ้างแล้ว
เนื้อหาที่ผมจะพูด คือ 1. ระบบเชิงสังคมเทคนิค : มันมีประเด็นอยู่ว่า เวลาที่เราพิจารณาตัวระบบเทคโนโลยี โดยมากคนพิจารณามันในฐานะที่ว่าเป็นเครื่องยนต์กลไกอันหนึ่ง ที่จริงแล้วเทคโนโลยีมันจะรันไปไม่ได้ถ้าเกิดมันไม่มีคน ซึ่งหมายความถึงตัวองค์กรหรือบริษัทที่มาสนับสนุนเงิน หรือว่าให้มันรันองค์การหรือรันการปฏิบัติงานให้เกิดขึ้นได้
2. และ 3. ต่อมาคือ ทฤษฎีทางสังคมวิทยา มี 2-3 ตัวซึ่งรองรับ เช่น ทฤษฎีเรื่องสังคมความเสี่ยง (ทฤษฎีขนาดใหญ่) หรือบางคนเรียกว่า สังคมเสี่ยงภัย (Risk Society) หรือทฤษฎีที่ระดับลดลงมา (ทฤษฎีขนาดกลาง) คือ Normal Accidents มองว่า อุบัติเหตุจะเกิดขึ้นเป็นปกติถ้าระบบมีความซับซ้อนสูง
4. ประวัติศาสตร์ทางสังคมเทคโนโลยี (Social History of Technology) ทำให้มองเห็นว่า เทคโนโลยีไม่ได้เกิดขึ้นเอง มันมีที่มาที่ไปของมัน ถ้าเรารู้ที่มาที่ไปของมัน เราก็พอรู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงมันได้อย่างไร
เริ่มต้น สังคมเสี่ยงภัย (Risk Society) : ผมขอพูดถึงเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล เราจะเห็นเท้าของเขาบวม ผลกระทบเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วไป แต่การศึกษาที่ให้ความชัดเจน ก็ยังไม่ได้ยืนยันเต็มที่สักเท่าไหร่ อย่างกรณีที่ญี่ปุ่น การรับรังสีมันไม่ได้รับแบบพรวดเดียวมหาศาล มันรับแค่ในระดับหนึ่งนาน ๆ ซึ่งกรณีแบบนี้ ทางการแพทย์ไม่มีผลยืนยันชัดเจน ผลยืนยันมันมาจากกรณีที่รับรังสีพรวดเดียวมหาศาล ซึ่งเป็นการศึกษาที่มาจากเหตุการณ์ฮิโรชิมา นางาซากิ ประเด็นสำคัญก็คือว่า มันทำให้เกิดเรื่องของความไม่แน่นอนของความรู้ คือเราไม่แน่ใจว่าเราจะเอาความรู้อะไรมาจับหรือมาจัดการกับในกรณีอย่างนี้ หรือเราจะเซ็ทว่าค่าอย่างนี้เป็นค่ามาตรฐานที่ปลอดภัยแล้วหรือยัง หรือว่าเราต้องขยับขึ้นลงอย่างไร เพื่อให้มันเสี่ยงน้อยลง รวมทั้งที่เกิดขึ้นชัดเจนก็คือ กรณีความขัดแย้งเรื่องของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมะ ซึ่งส่วนหนึ่งรังสีมันรั่วออกมา รวมกับตัวของกรณีอื่น เช่น โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล มักจะเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับประชาชนทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญมักจะบอกว่า เดี๋ยวมันก็หายไป ลืมกันไป เราจัดการได้ แต่สำหรับประชาชนทั่วไป เขาใช้ความรู้ท้องถิ่นบางอย่าง แล้วเขาจะบอกว่า มันไม่ได้จัดการง่ายเสียทีเดียว และปัญหามันก็ไม่ได้เคลียร์ไวขนาดนั้น ประชาชนส่วนหนึ่งก็จะแย้งกับผู้เชี่ยวชาญ อ่านได้จากใน paper ของผม ซึ่งยกมา 2 กรณีคือ กรณีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมะ กับ กรณีฝุ่นกัมมันตรังสีจากเชอร์โนบิลพัดไปตกที่สก็อตแลนด์ และทำให้คนเลี้ยงแกะบริเวณนั้นได้รับผลกระทบ จนคนเลี้ยงแกะทะเลาะกับทางรัฐบาลยูเครน
ทฤษฎีระดับกลาง – Normal Accidents : จะเน้นเรื่องของการจัดการตัวองค์กร แต่องค์กรตัวนี้ Organization ไม่ได้เน้นที่ตัวคนอย่างเดียว แต่เราดูปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องจักร คนกับวัตถุ เป็นไปอย่างไรให้เกิดอุบัติเหตุ เรื่องสำคัญคือว่า ตัวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีนักสังคมวิทยา ชื่อ Charles Perrow ศึกษามาเกือบ 30 ปีที่แล้ว บอกว่า มันเป็นระบบที่เทคโนโลยีความเสี่ยงสูงโดยตัวมันเองอยู่แล้ว เนื่องจากว่า ประเด็นแรก Complexity – ความซับซ้อนมันสูงมาก ดังนั้นถ้ามันเกิดความผิดพลาดอันใดอันหนึ่งแล้ว เราจะเดาได้ยากว่าผลที่ตามมามันจะเป็นอะไร ประเด็นต่อมา ลักษณะของมัน คือ Type Coupling – คือมันยึดโยงกันอย่างเหนียวแน่น แต่ละองค์ประกอบ สมมติว่าถ้าเกิดความผิดพลาดที่จุด A เราจะกั้นไม่ให้เกิดความผิดพลาดลามไปถึงจุด B หรือ C ความผิดพลาดมันก็จะส่งต่อไปเรื่อย ๆ จนยากที่จะหยุดยั้ง นี่คือ 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้เขาจัดอยู่ในเรื่อง ตัวระบบที่มีความเสี่ยงสูงโดยตัวมันเอง นี่คือแนวคิดหลักของนักสังคมวิทยา ซึ่งเขาไปดูกรณีของเกาะทรีไมล์ (Three Mile Island Accident) ที่เพนซิลวาเนีย เหตุที่มันเกิดขึ้นก็คือว่า วาล์วตัวหนึ่งมันเสีย ส่วนวาล์วอีกตัวหนึ่ง เขาปิดซ่อมโดยที่ตัวผู้ปฏิบัติการไม่รู้ สุดท้ายกลายเป็นว่า แทนที่จะเป็นแค่วาล์ว 2 ตัว แท่งเชื้อเพลิงบางส่วนมันเกิดหลอมละลายลงไป โดยตัวผู้ปฏิบัติการในโรงไฟฟ้าก็ไม่รู้ว่าที่จริงแล้วเกิดอะไรขึ้น อันนี้มันคือ ความซับซ้อนของระบบมันมากเกินกว่าที่มนุษย์จะไปจัดการมันได้
อันนี้มันก็ไม่ใช่แค่ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เท่านั้น หมายรวมถึงตัวของโรงงานที่เป็นเรื่องของทางเคมี และโรงงานอื่น ๆ ก็จัดอยู่ในส่วนคล้าย ๆ กันนี้ เพียงแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความซับซ้อนสูงมาก และการยึดโยงต่อกันมันสูงมาก (Complexity และ Coupling) เช่นเดียวกัน กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะก็คล้ายเช่นนี้ คือมีกรณีผู้ปฏิบัติการไม่รู้ ล่าสุดข่าวออกมาว่า เขาไม่รู้ว่าตอนที่เกิดแผ่นดินไหว มีพนักงานท่านไหนไม่รู้ไปตัดระบบหล่อเย็นลงเสียเอง เป็นข่าวที่ไม่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ที่สำคัญคือ เมื่อมันเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น มันทำให้เกิดตัวของคลื่นสูงประมาณตึก 4 ชั้น แต่ว่าตัวกำแพงกั้นสูงประมาณตึก 3 ชั้น ดังนั้นน้ำก็ซัดเข้ามา ทำให้ตัวยปั่นไฟไม่ทำงาน เมื่อตัวปั้นไฟไม่ทำงาน ทำให้ตัวระบบหล่อเย็นที่คอยหล่อให้เตาปฏิกรณ์ไม่ร้อนเกิน พลอยไม่ทำงานไปด้วย ประเด็นคือ ไม่ว่าระบบสำรองหรือระบบทุกอย่าง ไปพึ่งพิงกับการจ่ายไฟฟ้า หมายถึงว่า การออกแบบตัวระบบไปยึดโยงอยู่ที่จุดเดียว และก็ประมาทเกินไปคือว่า ไม่ได้คิดเรื่อง Worst case เอาไว้เลย ทั้ง ๆ ที่มีคำเตือนมาแล้ว
ประวัติศาสตร์ทางสังคมเทคโนโลยี
ผมขอเล่า 2 เรื่อง ที่ประเทศฝรั่งเศส ใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้าร้อยละ 80 ที่ใช้เยอะขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสรู้สึกเสียหน้าที่โดนเยอรมันบุกโจมตีอย่างหนัก ดังนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ ๆ ฝรั่งเศสถือว่าเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสถือว่าเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเขา เขาต้องการแสดงว่าเขาสร้างเทคโนโลยีระดับโลกได้ จึงใช้ตัวเทคโนโลยีเป็นกระบวนการสร้างชาติ ทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้แพ้สงครามหรือล้มเหลวไปเสียทั้งหมด การกลับมามีนิวเคลียร์ถือเป็นชาติมหาอำนาจระดับหนึ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสรู้สึกว่าเขาต้องมีเทคโนโลยีนิวเคลียร์เฉพาะตัว ให้ต่างจากประเทศอื่น ๆ
ต่อมาคือว่า มีงานศึกษาอีกอันหนึ่งพูดว่าตัวระบบไฟฟ้า ในช่วงทศวรรษ 1920 ที่เมืองลอนดอนกับเมืองเบอร์ลิน ต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ถ้าเป็นที่เมืองเบอร์ลิน จะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพียง 2-3 ตัวเท่านั้น แต่ถ้าเป็นที่เมืองลอนดอน จะมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กประมาณ 50 โรง ที่มันเป็นอย่างนี้เพราะว่า เมืองเบอร์ลิน อำนาจการจัดการไฟฟ้ามันขึ้นกับตัวผู้ว่าฯ แต่เพียงคนเดียว แต่ในเมืองลอนดอน ประชาชนพยายามที่จะรักษาอำนาจของเขตย่อย ๆ ดังนั้นเขตย่อย ๆ ก็จะสร้างโรงไฟฟ้าของตนเอง ในช่วงทศวรรษ 1920 เลยทำให้กลายเป็นว่า ระบบไฟฟ้าค่อนข้างต่างกันโดยสิ้นเชิง ทำให้เห็นว่า บริบททางสังคม เป็นตัวเข้าไปจัดรูปร่างของเทคโนโลยีว่ามันจะออกมาแบบไหน มันไม่ใช่แค่ว่า วิศวกรบอกว่าอันนี้มันมีประสิทธิภาพมากที่สุดแล้ว ต้องเชื่อวิศวกรอย่างเดียว มันไม่ใช่ มันกลายเป็นว่า “ตัวสังคม” เป็นตัวตั้งโจทย์ให้ว่ารูปแบบทางวิศวกรรม ควรจะออกมาอย่างไร
สุดท้าย มันสะท้อนว่า สังคมช่วยจัดรูปจัดร่างของเทคโนโลยีได้ แต่อย่างน้อยเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามาถึงระดับหนึ่งแล้ว มันถอนกลับไม่ได้ หมายถึง มันจะมีโครงข่าย มันจะมีมาตรฐาน รวมทั้งกรณีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มีการลงทุนเป็นจำนวนมาก มีมาตรฐานของระบบจ่ายไฟ มาตรฐานของ Grid จะถูกเซ็ทขึ้นมา รวมทั้งทีมกลุ่มองค์กร กลุ่มผู้เชี่ยวชาญขนาดใหญ่ เรียกว่าเทคโนโลยี Login มันจะผลักเข้าไปสู่จุดที่เรียกว่า เหมือนกับเทคโนโลยีขับเคลื่อนโดยตัวของมันเอง มีแรงส่งโดยตัวมันเอง แต่สุดท้ายแล้วมันก็เหมือนกับว่า หลุดพ้นไปจากสังคม และสังคมทำอะไรมันไม่ได้ นี่ถึงขั้นยที่เรียกว่า เทคโนโลยี เติบโตโดยตัวมันเอง
ระยะหลัง มีงานเชิงวิชาการออกมา โดยตั้งโจทย์ว่า เราจะเปลี่ยนแปลงมันได้หรือไม่ ช่วง 3-4 ปีหลังมีงานของสหรัฐอเมริกา เขาศึกษาว่าขบวนการภาคประชาชนเปลี่ยนแปลงมันได้หรือไม่ เขาศึกษาใน 2 ส่วนส่วนแรกคือว่า ตัวของ Industrial Opposition Movement คือว่า ขบวนการต่อต้านอุตสาหกรรมสกปรก มีส่วนที่จะยับยั้งอุตสาหกรรมพวกนี้ได้อย่างไร ถ้าเป็น case อย่างมาบตาพุดจะชัดเจน อีกส่วนหนึ่งเขาดูว่า Technology and Product Oriented Movement คือ ขบวนการภาคประชาชนซึ่งมีส่วนร่วมกับผู้ประกอบการใหม่ ๆ รวมทั้งร่วมผลักดันนโยบายที่จะเปลี่ยนนโยบายนวัตกรรม ว่ายังมีส่วนที่จะสร้างเส้นทางใหม่ของเทคโนโลยีสะอาดและยั่งยืนได้อย่างไร นี่คืองานของศึกษาในช่วงหลัง ที่จะเน้นมาใน 2 จุดนี้
เหล่านี้คือภาพรวมทั้งหมด โดยไล่มาตั้งแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จนกระทั่งระบบไฟฟ้า แล้วเราจะไปอย่างไรต่อ เหมือนกับเราตั้งโจทย์ว่า เทคโนโลยีมันไม่ใช่แค่เรื่องของว่า อยู่ที่มือวิศวกรหรืออุตสาหกรรมหรือบริษัทขนาดใหญ่ งานวิจัยต่อไปข้างหน้าทั้งของสถาบันวิจัยฯ ถ้าเรารวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมทั้งสังคมวิทยา เข้าด้วยกัน น่าจะทำให้เห็นทางใหม่ ๆ ได้
ความไม่เป็นธรรมจากการพัฒนาอุตสาหกรรม กรณีเหมืองแร่
นฤมล อรุโณทัย : สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Paper นี้ก็เหมือนกับรายงานของคุณปกรณ์ ซึ่งไม่เป็นโครงการวิจัย แต่ว่าเป็นการทบทวนเอกสาร เป็นการทบทวนช่องโหว่ของความรู้ เนื้อหาอาจจะไม่แปลกใหม่เท่าไหร่ โดยเฉพาะผู้ร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เป็นนักวิจัยจากพื้นที่ รู้เกี่ยวกับผลกระทบจริงจากเหมืองแร่ ดิฉันคิดว่าการทบทวนเอกสาร เป็นสิ่งที่น่าสนใจตรงที่เราพยายามที่จะพัฒนาโครงการวิจัยแบบที่มองข้ามสาขาวิชา มองว่าเราจะพัฒนาโครงการวิจัยอย่างไร ให้มีคณะภาควิชาสาขาต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งวิศวะ วิทยาศาสตร์ แพทย์ เภสัชและสาขาวิชาต่าง ๆ มามองจุดร่วมกันคือผลกระทบจากเหมืองแร่ที่มีต่อชุมชน แต่เราก็พบว่า ความสัมพันธ์ในมหาวิทยาลัยเอง ในแต่ละคณะ แต่ละภาควิชา มันก็ยังไม่ได้เป็นความสัมพันธ์เชิงระนาบทีเดียว บางทีสังคมศาสตร์ก็มองว่าเป็นแค่เครื่องมือที่จะเข้าถึงชุมชน เพราะฉะนั้นก็คงจะต้องเฟส 2 อีกอย่างหนึ่งที่เราพัฒนาโครงการนี้ก็เพื่อที่จะขับเคลื่อนให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีส่วนมาสร้างความรู้ที่เกี่ยวกับเหมืองแร่ และอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ
ขอย้อนกลับไปในสมัยก่อน อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเรื่องเหมืองแร่ดีบุก มีสารหนู มีการทิ้งกากแร่ เริ่มด้วยการทำเหมืองแร่ แล้วชาวบ้านเองก็ไปขุดแร่ แต่งแร่กันเอง ทำให้สารกระจายทั่วหมู่บ้าน ซึมลงไปในบ่อน้ำ ชาวบ้านก็เป็นโรคไข้ดำ มีอาการฝ่าเท้าฝ่ามือหนา พบโรคมะเร็งในผู้ป่วย เราพบว่าอย่างกรณีนี้ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการแพร่กระจายการปนเปื้อน แทบจะไม่มีเลย จนกระทั่งมันปนเปื้อนไปแล้ว มันไม่ได้มีการควบคุมเฝ้าระวังไว้ก่อนเลย เพราะฉะนั้นความรู้มีจำกัด เวลาเกิดผลกระทบแล้ว ความรู้ที่จะจัดการกับมัน ความรู้ที่จะฟื้นฟู หรือช่วยเหลือชาวบ้านมีน้อย เพราะฉะนั้นชาวบ้านที่อำเภอร่อนพิบูลย์ก็ยังมีส่วนที่เจ็บป่วยและทุกข์ทรมานอยู่ ส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกที่จะไปที่อื่น ก็ต้องทนอยู่อาศัยต่อไป แล้วในแง่มุมของชาวบ้านก็คือ ไม่อยากจะให้คนอื่น ๆ รู้มากนักว่าในพื้นที่มีปัญหา เพราะว่าอาจจะถูกรังเกียจ อย่างกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คนที่ได้รับเคราะห์กรรมจากโรงไฟฟ้า กลับจะถูกมองว่า เป็นผู้ที่ถูกรังเกียจ และผลกระทบจากท้องถิ่นก็อาจจะได้รับผลกระทบ เช่น เมื่อคนรู้ว่าท้องถิ่นนี้มีสารหนูปนเปื้อนก็อาจจะขายผลผลิตไม่ได้ เพราะฉะนั้นชาวบ้านต้องปรับตัว
กรณีนี้เป็นที่สนใจมากของผู้คน และสื่อก็นำเสนอมาก เมื่อเดือนที่แล้วมีการจัดนิทรรศการที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ เพื่อที่จะนำเด็กและชาวบ้านมาถ่ายทอดในเชิงศิลปะ ผ่านละคร หนังสั้น และรูปภาพว่าเขาได้รับความทุกข์ทรมานอย่างไร เหมืองแร่นี้มีมานานแล้ว ก่อนที่จะมีกฎหมายเกี่ยวกับ EIA (Environmental Impact Assessment) ตั้งแต่ พ.ศ.2510 ชาวบ้านได้รับผลกระทบ เป็นเวลา 30-40 ปีมาแล้ว และตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา การจัดการที่ไม่ดีทำให้ตะกอนรั่วไหลลงลำห้วย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านที่เป็นกะเหรี่ยง เขาพึ่งพาลำห้วยคลิ้ตี้ และอาหารต่าง ๆ บริเวณลำห้วย เขาพบว่ามีสัตว์เลี้ยงล้มตาย ชาวบ้านเจ็บป่วยเสียชีวิต เด็กแรกเกิดมีพัฒนาการช้า มีเด็กปัญญาอ่อนหลายคน มีป้ายคำเตือนจากสาธารณสุขจังหวัดให้งดดื่มน้ำในลำห้วยคลี้ตี้ แต่ทุกวันนี้ชาวบ้านก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องกินน้ำจากห้วย แล้วก็ตกปลาหาอาหารจากลำห้วย
สิ่งที่เราพบคือ ชุมชนกะเหรี่ยงที่ไม่ได้มีภาษาวัฒนธรรมเหมือนกับกระแสหลัก ทำให้การเรียกร้องสิทธิของเขายากลำบากมาก ถ้าไม่มีกลุ่มองค์กรบุคคลลงไปเป็นสื่อกลาง หรือทำให้สาธารณชนรับรู้ ชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ก็คงไม่ปรากฏเป็นข่าว พื้นที่หมู่บ้านเองก็อยู่ไกลจากบริการสาธารณะต่าง ๆ จะเข้าไปในหมู่บ้านแต่ละที เดินทางจากทองผาภูมิก็ประมาณ 3-4 ชั่วโมง พอเกิดการฟ้องร้อง ก็ไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับชาวบ้าน เรื่องที่ต้องเดินทางมาศาล มาแล้วมาอีก และความหวังก็ไม่รู้ว่าจะมีหรือเปล่า เพราะนั้นแม้ว่าจะมีบุคคล หน่วยงาน องค์กรที่คอยให้ความสนใจ แต่ตอนนี้การเยียวยา การบำบัด ก็ยังเป็นช่องโหว่ใหญ่ของความรู้ว่ามันเกิดการปนเปื้อนแล้วจะทำอย่างไรต่อ การบำบัดอาจจะต้องใช้ทุนมหาศาล
อีกประเด็นหนึ่งคือ บริเวณพื้นที่ปัญหาเป็นเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นพื้นที่มรดกโลก แล้วก็เคยมีมติของคณะกรรมการว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ว่ามันไม่เหมาะไม่ควรที่จะทำเหมืองแร่ในบริเวณนั้น ส่วนเรื่องชาวบ้านฟ้องศาล ซึ่งมีหลายศาลเลย หลายท่านคงได้ติดตามเรื่องนี้แล้ว ส่วนหนึ่งศาลได้พิจารณาการชดเชย และน่าสนใจถ้าเราจะมาพูดถึงคำพิพากษาของศาลว่า “ค่าชดเชย ค่าที่ต้องเสียความสามารถและโอกาสในการทำงานอย่างสิ้นเชิงหรือบางส่วน ค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยได้รับทุกขเวนา ค่าเสียโอกาสที่จะพัฒนาตนอย่างมีศักดิ์ศรี ค่าขาดประโยชน์ในการใช้น้ำอุปโภค บริโภค” ซึ่งเป็นกรณีที่น่าสนใจว่าศาลท่านเริ่มมีแนวคิดใหม่ ๆ ในการมอง ท่านเริ่มมีแนวคิดในการคิดคำนวณและให้ความสำคัญในมิติต่าง ๆ ในด้านสังคม ไม่ได้มองสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว นับว่าเป็นมาตรฐานหนึ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นชุมชนคลิตี้ที่ได้รับทุกขเวทนา กลับเป็นการทำให้สังคมใหญ่ได้เรียนรู้และมีการปรับแก้กฏระเบียบต่าง ๆ แต่ถ้ามองอย่างสุดโต่งแล้ว ถ้าท่านใดได้ไปดูงานที่หอศิลป์ คงจะเห็นเด็ก ๆ เรียกร้องกันว่า “เอาลำห้วยของเราคืนมา” แต่มันก็กลับไปดังเดิมไม่ได้แล้ว ถึงจะได้รับค่าชดเชย มีเงินเป็นล้าน แทบจะไม่มีประโยชน์ เพราะว่าบทเรียนก็คือความมั่งคั่งในบริบทของชนพื้นเมือง คือสิ่งแวดล้อม คือสังคมวัฒนธรรม สิ่งที่เขาอยู่รวมกันเป็นชุมชน กรณีเช่นนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่เราไม่อยากจะเห็นเกิดในที่อื่น ๆ
ความไม่เท่าเทัยม : ช่องโหว่ของขัอมูล ความรู้ และระบบ
:
ด้านสาธารณสุข เราไปเน้นเรื่องเฝ้าระวังสุขภาพ แบบเชิงรับ เพราะฉะนั้นกรณีไม่ว่าจะเป็นมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถ้ามองในแง่ด้านสาธารณสุข เราตรวจร่างกายไปวัน ๆ มันเป็นแค่เชิงรับเท่านั้น และมันก็ไม่ได้มีการมองภาพรวมว่าตอนนี้มีกรณีไหนบ้าง ข้อมูลล่าช้า เพราะฉะนั้นมันจะไม่มีการเตือนภัยด้านสุขภาพ
: มีพื้นที่บางพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนธรรมชาติ และผู้ประกอบการก็มักจะอ้างว่า มันมีการปนเปื้อนโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ใช่มาจากเหมืองแร่เสียทีเดียว อันนี้เราก็ยังไม่ข้อมูลพื้นฐานเลยว่า มีพื้นที่เสี่ยงอย่างไร สุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นอย่างไรบ้าง เรื่องการฟื้นฟูเหมืองเป็นข้อสำคัญ เพราะมันไม่ได้มีผลในเชิงปฏิบัติ และเน้นเรื่องการฟ้องร้องเรียกเสียหายที่หลัง กฎหมายที่ควบคุมก็ยังมีไม่พอ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า ช่องโหว่ก็คือ ความรู้ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในทุกส่วน ทุกมิติของเรื่องเหมืองแร่และผลกระทบ
เมื่อต้นปีประมาณเดือนมีนาคม เมษายน เราคงได้ยินเรื่องดินโคลนถล่ม แล้วก็มีคนพูดว่า มันมีหลายปัจจัยในตอนนี้ อย่างเช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตอนนี้มันยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น คุณปกรณ์พูดถึงสังคมที่มีความเสี่ยง และความเสี่ยงมันอาจจะเกิดจากการสะสมของหลายปัจจัยเรื่องฝน เรื่องลักษณะทางธรณีวิทยา การเปลี่ยนแปลงใช้ประโยชน์ที่ดิน เพราะฉะนั้นมีการพูดถึงว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศ” อาจจะต้องเป็นประเด็นหนึ่งใน EIA ว่ามีการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน อย่างไรแล้ว
ความไม่เป็นธรรมจากฐานคิด
เรื่องฐานคิด เป็นเรื่องสำคัญมาก และดิฉันคิดว่าอันนี้เป็นส่วนที่สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งจริง ๆ แล้วมนุษยศาสตร์เป็นศาสตร์สาขาที่เวลาที่เราพูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เป็นศาสตร์ที่ถูกลืม เป็นศาสตร์ที่รู้สึกว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่ดิฉันคิดว่าฐานคิดจะต้องมองจากเรื่องปรัชญาจากมนุษย์ศาสตร์ เพราะที่เราพูดกันตั้งแต่เช้า จากปาฐกถาของท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ และการนำเสนอของอาจารย์ชัยยนต์ อาจารย์ปกรณ์ ฐานคิดว่า ที่ดินเป็นสินค้า สินแร่เป็นสินค้า แล้วก็พื้นที่เสี่ยงภัย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชุมชนชนบท ชุมชนชายขอบ ถ้าเรามองความไม่เป็นธรรม มันเริ่มจากฐานคิดเลย ที่ผ่านมาอาจารย์ชัยยนต์ได้พูดถึง Distributive Justice ว่ามันไม่
ยุติธรรม เพราะว่าผลกระทบต่าง ๆ ที่ชุมชนรับไป มันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทหรือกำไรของบริษัท หรือกลุ่มทุน หรือเราชอบอ้างว่า เอาเหมืองแร่เพื่อการพัฒนาของชาติ นิคมอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาของชาติโดยรวม
เรามีการพูดถึงความสนใจในด้านสิ่งแวดล้อม แต่ชุมชนที่กำลังจะล่มสลายไป หรือแม้แต่ความขัดแย้งในชุมชนที่เกิดจากการนำโครงการพัฒนาลงไป มันจะมาประเมินความเสียหายอย่างไร ดิฉันคิดว่าบางทีมันเสียหายมากกว่าเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วยซ้ำ
แนวคิดเรื่องเหมืองแร่ที่ยั่งยืน หลายคนบอกว่ามันเป็น Oxymoron คือ มันไม่เข้ากันเลย แล้วมันจะยั่งยืนได้อย่างไร ถ้าธุรกิจเหมืองแร่ที่ยั่งยืน อาจจะพอเป็นไปได้ แต่เหมืองแร่กับชุมชนมันอยู่ด้วยกันได้จริงหรือเปล่า แล้วก็มีการพูดถึงว่า ธุรกิจเหมืองก็น่าจะมีการปันส่วนกำไรมาให้ชุมชนด้วย แต่มันมีประเด็นว่าการจ้างงานและความช่วยเหลือจากบริษัท มันจะเป็นการสร้างระบบอุปถัมภ์ และก็ผู้คนในท้องถิ่น อาจจะเกรงใจกันขึ้น ถ้าหากเหมืองแร่ส่งผลกระทบ ก็ไม่อยากจะพูดอะไร แล้วในบริบทของไทย หลาย ๆ แห่ง ไม่ใช่เฉพาะในโครงการเหมืองแร่ บริษัทจะถูกมองว่า การให้ไม่ใช่เป็นหน้าที่แต่ว่านับว่าเป็นบุญคุณ นี่ก็สำคัญ
การปรับเปลี่ยนฐานคิดจากพลังของชาวบ้าน
เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ มีการรวมตัวกันแล้ว มีการทำงานร่วมกัน มีข้อเสนอต่าง ๆ แล้วดิฉันคิดว่าก็คงไม่จำกัดเฉพาะเมืองไทย อีกหน่อยเราคงรวมเครือข่ายเป็นเครือข่ายระดับสากล มีการสื่อสารถ่ายทอดแลกเปลี่ยนกัน แล้วก็อันนี้เป็นกรณีคล้ายกับที่คลิตี้มาแสดงที่หอศิลป์ กทม. มีป้ายแสดงคำว่า NAVERMINED : A night of Art and Resistance ก็คือการต่อต้านโดยใช้เชิงศิลปะ เชิงสุนทรีย์ เป็นสิ่งที่ต่อต้าน จะมาม็อบอย่างเดียว หรือใช้ความรุนแรงก็ไม่ใช่คำตอบที่จริงเรื่องเกี่ยวกับเหมืองแร่ และการต่อต้านเหมืองแร่ ที่มีผลกระทบต่อชุมชน มันมีในหลากหลายประเทศ
โดยสรุป
ประเด็นเหมืองแร่กับผลกระทบต่อชุมชน สำคัญมากในประเทศไทย เพราะว่ามันไม่ได้มีพื้นที่ว่างเปล่าแบบประเทศแคนาดาหรือประเทศออสเตรเลีย ที่ไม่ได้มีชุมชนอาศัยอยู่ หรือแม้แต่แคนาดาหรือออสเตรเลียก็อาจจะมีพื้นที่ว่างเปล่า ที่มีชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ ที่อาจจะได้รับผลกระทบก็ได้
จาก paper เกี่ยวกับเรื่อง “ความเป็นธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม : มองกรณีจากเหมืองแร่ที่มีผลกระทบต่อชุมชน” ในนั้นท่านจะเห็นว่าโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ท่านอาจจะแปลกใจว่า ทำไม เพราะเราคิดว่าภาคส่วนของผู้บริโภคตอนนี้ต้องเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว เกี่ยวกับเรื่องผลกระทบต่อชุมชนจากเหมืองแร่ เพราะว่าเราเองมีส่วนเป็นผู้บริโภค สิ่งของที่ผลิตมาจากแร่ต่าง ๆ ความสะดวกสบายของเรา สิ่งของที่เราหาซื้อหามาได้ในราคาถูก มันกำลังเบียดเบียนผู้คนกลุ่มหนึ่ง
ท้ายสุด เรื่องช่องโหว่ทางความรู้ ยังมีอีกมาก เรื่องความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องอำนาจของความรู้ ก็ยังมี ไม่ใช่เฉพาะแค่ชุมชนกับผู้ประกอบการ แม้แต่ในมหาวิทยาลัยเองก็มีเรื่องช่องว่าง อำนาจของความรู้ แล้วก็ 2 อย่างที่เราน่าจะผลักดันต่อไปคือ
-
การขับเคลื่อนผู้รับเคราะห์ให้ได้ร่วมผลิตสร้างความรู้และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาวิชา แล้วก็พยายามข้ามสาขาวิชาภายในมหาวิทยาลัย
- สื่อสารเสียงแห่งการทนทุกข์ ให้ได้กลายเป็นประสบการณ์ร่วมกันในสังคม หรือที่อาจารย์สุริชัยชอบพูดว่า เรียนรู้แบบร่วมทุกข์ เร่งพัฒนาความร่วมมือ และเรียนรู้ระหว่างกัน