ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน โดย พงษ์ทิพย์ สำราญจิตร แลกเปลี่ยนโดย อานันท์ กาญจนพันธุ์

 

รายงานชิ้นนี้เป็น paper ที่อาจารย์หลายท่านร่วมในการศึกษาวิจัยใน”โครงการศึกษาเรื่องการถือครองที่ดินและการจัดการที่ดินเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม” สำหรับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เครือข่ายสลัม 4 ภาค สหกรณ์การเช่าที่นาคลองโยง สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ และ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จาก 6 เครือข่ายย่อย ร่วมกันศึกษา วัตถุประสงค์หลักของงานศึกษาชิ้นนี้มีอยู่ 2 เรื่องคือ

1. เพื่อศึกษาสถานการณ์เรื่องการถือครองที่ดินและการจัดการที่ดิน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม แล้วงานศึกษาชิ้นนี้ ศึกษาในพื้นที่ 11 ชุมชนของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)

 

2. เพื่อพัฒนาและยกระดับองค์ความรู้เรื่องการจัดการที่ดินเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม โดยพาะอย่างยิ่ง งานศึกษาชิ้นนี้ต้องการจะพัฒนาและยกระดับองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโฉนดชุมชน ซึ่งมีความพยายามที่จะพัฒนาให้เป็นระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบที่ 3 ในสังคมไทย เพราะว่าปัจจุบันเรามีระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินในแบบที่ดินของรัฐ และ ระบบกรรมสิท์ที่ดินในแบบที่ดินของเอกชน ซึ่งสร้างปัญหาเป็นอย่างมาก เพราะว่าไปละเมิดสิทธิจารีตประเพณีที่ชุมชนดั้งเดิมเขาเคยมีกรรมสิทธิ์แบบที่ 3

 

การศึกษาก็จะดูทั้งมิติทางด้านเศรษฐกิจของเรื่องระบบโฉนดชุมชน มิติทางด้านการเมือง สังคม วัฒนธรรม และก็มิติทางประวัติศาสตร์ และองค์ความรู้นี้ เราตั้งใจจะนำไปใช้ในท้ายที่สุดเมื่อเสร็จสิ้นงานวิจัยในเวลาปีครึ่ง เราต้องการพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะว่าด้วยเรื่องการจัดการที่ดินแบบกรรมสิทธิ์โฉนดชุมชน มีความชอบธรรมที่จะเป็นระบบกรรมสิทธิที่ดินแบบที่ 3 ในสังคมไทย ด้วยเหตุผลอะไรบ้าง

 

 

meeting 312

 

 

 

พื้นที่ศึกษาจะมีหลายจังหวัด ทั้งหมด 11 ชุมชน คือ

 

1. ชุมชนบ้านโป่ง จังหวัดเชียงใหม่ และชุมชนหินลาดใน จังหวัดเชียงราย ชุมชนหินลาดในเป็นชุมชนปกาเกอะญอส่วนชุมชนบ้านโป่งเป็นชุมชนที่เข้าไปปฏิรูปที่ดินในที่ดินของเอกชน

 

2. ชุมชนบ่อแก้ว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เข้าไปยึดที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ และชุมชนดอนฮังเกลือ จังหวัดร้อยเอ็ด

 

3.  ชุมชนทับเขือหมู-ปลักหมู และชุมชนบ้านตระ จังหวัดตรัง

 

4. ชุมชนสันติพัฒนา และ ชุมชนไทรงาม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

5. ชุมชนคลองโยง นครปฐม

 

6. ชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ ชุมชนเพชรคลองจั่น กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ของชุมชนเมืองของเครือข่ายสลัม 4 ภาค

 

ในงานศึกษาที่มีอาจารย์จากหลายสถาบัน ช่วยกันศึกษาในเครือข่ายฯ มีผลการศึกษาในเบื้องต้นที่เราเริ่มงานศึกษาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนถึงเดือนสิงหาคม มีประเด็นหลัก ๆ ที่เราสามารถหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่เราชี้ให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมทางสังคม หรือ ความไม่เป็นธรรมในเรื่องการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินอย่างไรบ้าง

 

ประเภทที่ 1. ในพื้นที่ของเรา ใน 11 ชุมชนมีทั้งหมด 4 ชุมชน ที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม แต่ว่าถูกหน่วยงานราชการ ถูกภาครัฐประกาศเป็นเขตป่าสงวนและที่สาธารณประโยชน์ทับซ้อนในที่ดินทำกินของชาวบ้าน อย่างกรณีของชุมชนหินลาดใน เป็นพื้นที่ปกาเกอะญอตั้งมาแล้ว 100 กว่าปี แต่ว่าถูกป่าสงวนแห่งชาติประกาศทับ ชุมชนทับเขือ-ปลักหมู ก็ตั้งมาแล้ว 70 ปี จังหวัดตรัง ถูกเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่าประกาศทับ ชุมชนบ้านตระ จังหวัดตรัง ตั้งมาแล้วประมาณ 400 กว่าปี ตั้งแต่สมัยอยู่กับมวลชนภูเก็ต ก็ถูกเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดประกาศทับ ส่วนชุมชนดอนฮังเกลือ จังหวัดร้อยเอ็ด ถูกกระทรวงมหาดไทยประกาศที่สาธารณประโยชน์ทับที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านทำกินมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2472

 

ในชุดแรก เราแบ่งประเภทเป็นชุมชนที่อยู่มาแต่ดั้งเดิม หากแต่ถูกกฎหมายสมัยใหม่ กฎหมายป่าไม้ ซึ่งฉบับแรก คือ กฎหมายป่าไม้ฉบับปี พ.ศ.2474        และกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2504 ประกาศทับที่

 

ประเภทที่ 2. ที่ถูกละเมิดสิทธิ์ คือ ประเด็นชุมชนท้องถิ่นถูกหน่วยงานราชการแย่งชิงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน กรณีนี้อย่างเช่น ชุมชนบ่อแก้ว จังหวัดชัยภูมิ กับ ชุมชนคลองโยง จังหวัดนครปฐม กรณีชุมชนบ่อแก้ว เป็นชุมชนที่ตั้งในพื้นที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ แต่ถูกเขตป่าสงวนแห่งชาติประกาศทับ แล้วหลังจากนั้นองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ปี พ.ศ.2521 ก็ได้แย่งพื้นที่คืน โดยถูกสวนป่ายูคาลิปตัสทับที่ชาวบ้านจำนวน 4,401 ไร่ สมัยนั้น ปี พ.ศ.2521 มีการใช้อำนาจอิทธิพลเถื่อน มีการข่มขู่ มีการใช้อาวุธสงคราม ลักลอบเอาอิทธิพลมืดเข้าไป แล้วขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ในปี พ.ศ.2521 ตอนนี้ชาวบ้านก็พยายามจะกลับเข้าไปที่ทำกินเดิม ก็ถูกหน่วยงานราชการตีโต้กลับมาด้วยคดีความ

 

ชุมชนคลองโยง จังหวัดนครปฐม เป็นชุมชนที่ได้รับการจัดสรรที่ดินตั้งแต่สมัยก่อน สืบเนื่องตั้งแต่เรามีกองทุนช่วยเหลือชาวนา คือ กองทุนหมุนเวียนจัดซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกร ตั้งแต่เรามีกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 แล้วที่ตรงนี้ ชาวบ้านช่วยกันผ่อนค่าที่ดินจนมูลค่า 4-5 ล้านบาท ทั้งหมด 1,800 ไร่ แล้ววันดีคืนดี กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ ก็ประกาศยึดคืนพื้นที่ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เอาที่จากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ดังนั้นชาวบ้านที่ผ่อนมาทั้งหมดก็ถูกยึดคืน ไปอยู่ที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และชาวบ้านต้องจ่ายค่าเช่าในกรมธนารักษ์ในราคาที่แพงมากขึ้น ดังนั้น ประเภทที่ 2 นี้ก็เป็นมิติมุมมองเรื่องหน่วยงานราชการ มีนโยบายกฏหมายในการแย่งชิงการใช้ประโยชน์ที่ดิน คือดึงที่ดินไปจากชาวบ้าน

 

ประเภทที่ 3. คือแบบที่เกษตรกรไร้ที่ทำกิน เข้าไปปฏิรูปการถือครองที่ดินในที่ดินรกร้างว่างเปล่า เดิมเคยเป็นที่ชุมชน แล้วก็ถูกนายทุนกว้านซื้อด้วยหลากหลายวิธี ตั้วแต่ การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบในที่ดินเอกชน เมื่อออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ เสร็จแล้วก็เอาที่ดินเข้าไปใน NPL มีมูลค่ามหาศาล เสร็จแล้วเมื่อกลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ชาวบ้านก็เข้าไปปฎิรูปการถือครองที่ดินด้วยตนเอง อย่างกรณีชุมชนบ้านโป่ง ก็จบลงโดยแกนนำ 3 คน ตอนนี้ก็ถูกคดีความ

 

ประเภทที่ 4. คือเกษตรกรไร้ที่ทำกิน เข้าไปปฏิรูปการถือครองที่ดินในเขต สปก. ซึ่งควรจะเป็นที่ดินที่ สปก. จะต้องจัดสรรให้กับชาวบ้าน แต่ว่าในท้ายที่สุด ชาวบ้านก็ถูกขับไล่ และฟ้องร้องโดยบริษัทเอกชน บริษัทเอกชนเข้าไปทำสวนปาล์มในที่ สปก. โดยผิดกฎหมาย แล้วก็เข้าไปออกเอกสารสิทธิ์ นส.3ก. โดยผิดกฎหมาย แต่สามารถใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายในการใช้ นส.3ก. ที่ผิดกฎหมาย ฟ้องร้องคดีความกับชาวบ้าน โดยใช้วิธี ฟ้องไปก่อน ถอนที่หลัง ชาวบ้านก็เจอคดี ในกรณีนี้คือที่ ชุมชนสันติพัฒนา ชุมชนไทรงาม อำเภอบางสวรรค์ และชุมชนไทรบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

ประเภทที่ 5. คือประเด็นชุมชนเมือง ที่เราไปศึกษา ชุมชนอยู่ในที่สาธารณประโยชน์ของกรุงเทพฯ ชาวบ้านเข้าไปสร้างชุมชนอยู่มาแล้ว 40-50 ปี วันดีคืนดี ผู้อำนวยการเขตก็ทำหนังสือแจ้งจับชาวบ้าน กล่าวหาว่าชาวบ้านไปบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ ไปสร้างทัศนียภาพที่ไม่สวยงามให้กับคอนโดมิเนียมในซอยทองหล่อ ไปสร้างสลัมติดกับคอนโดสวยหรู ตอนนี้ผู้อำนวยการเขตเรียกหมายจับชาวบ้านทั้งหมด 44 คน

 

ในกรณีทั้งหมดที่เราเจอ มีหลากหลายรูปแบบ โดยทั้งหมดที่เราเจอในกรณีศึกษา ปัญหาหลัก ๆ คือ

 

  1. ชุมชนท้องถิ่นถูกละเมิดสิทธิในที่ดินทำกิน
  2. การปฏิรูปที่ดินโดยหน่วยงานของรัฐล้มเหลว ชุมชนต้องเข้าไปปฏิรูปการถือครองที่ดินเอง

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนตอนนี้ ที่เราเจอในงานศึกษา โดยหลัก ๆ มี 2-3 เรื่อง คือ

 

1. เกษตรกรและคนจนเมืองได้ถูกดำเนินคดีความ อันเนื่องมาจากการใช้สิทธิชุมชนในการจัดการและใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากร ซึ่งในตอนนี้ที่เป็นคดีความกันอยู่ ใน Website ของกรมป่าไม้และกรมอุทยาน ระบุกรมป่าไม้ฟ้องร้องประมาณ 1,200 คดี กรมอุทยานฟ้องร้องประมาณ 2,000 กว่าคดี ในสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ มีผู้ต้องหาทั้งหมด 267 ราย จำนวน 34 คดี ถูกเรียกค่าเสียหายทางแพ่งให้จ่ายเงินคืนให้กรมอุทยานทั้งหมด 32 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้สภาทนายความพยายามจะเข้ามาช่วยเหลือ นี่เป็นผลสืบเนื่องจากการถูกละเมิดสิทธิ์ และการถูกกีดกันไม่ให้ชาวบ้านใช้ทรัพยากร

2. ชาวบ้านไม่สามารถจะใช้ชีวิตโดยปกติได้ ไม่สามารถจะเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน ไม่สามารถจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดิน เนื่องจากบางรายที่เราเจอในพื้นที่ ชาวบ้านถูกจับ 4 ครั้ง ทและถูกจับขังคุก ครั้งละ 7 วัน ผ่านไปอีก 2 เดือนมาจับอีก เอาไปติดคุกอีก 7 วัน ผ่านไป 3-4 เดือนก็จับอีก จับซ้ำซ้อนอยู่อย่างนี้ แต่ชาวบ้านไม่มีที่ไป ก็ต้องกลับไปอยู่ที่เดิม และ ชาวบ้านเองก็ถูกอิทธิพลมืด จากการคุกคามของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ซึ่งชาวบ้านก็เจอเสมอ

ดังนั้น ความไม่มั่นคงในที่ดินทำกิน ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เจอประเด็นเรื่องการเลือกปฏิบัติ เพราะว่าเจ้าหน้าที่ก็ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายหาประโยชน์ อย่างเช่น ชาวบ้านจะฟันต้นยาง ชาวบ้านต้องจ่ายแปลงละ 30,000 บาท ถ้าสามารถจ่ายได้ ชาวบ้านก็สามารถจะอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น แสดงว่าเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ มันไม่เป็นจริง

3.ทรัพยากรถูกทำลายมากขึ้น ในช่องโหว่อันนี้

4.ตอนนี้สังคมก็ถูกสร้างให้เข้าใจผิดว่า คนจนคือผู้ทำลายป่า สร้างอคติ มายาคติว่า คนจนคือคนกลุ่มเดียวที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติมันหมดไป

 

ชุมชนบ้านโป่ง มีผู้ต้องหา 3 คดี ชุมชนบ่อแก้ว มีผู้ต้องหาทั้งหมด 31 ราย ในคดีแพ่ง ชุมชนสันติพัฒนา มีคดีอาญาทั้งหมด 9 ราย เป็นคดีแพ่ง 12 ราย ชุมชนทับเขือ-ปลักหมู มีผู้ต้องหา 6 ราย ชุมชนบ้านตระมีผู้ต้องหาทั้งหมด 6 ราย ชุมชน สน.ทองหล่อมีผู้ต้องหาทั้งหมด 44 ราย โดยรวมแล้วสมาชิกในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย มีผู้ต้องหาเต็มไปหมด อันเนื่องมาจากการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

 

เรื่องคดีความ ตอนนี้เป็นคดีโลกร้อน ตัวเลขล่าสุดที่รวบรวมได้คือ 32 ล้านบาท ชาวบ้านถูกยึดบัญชีธนาคาร ธกส. ไป บางคนมีเงินในบัญชีประมาณ 107 บาท ก็ยังถูกยึด มีรายหนึ่งคือนายอมร เจอถูกฟ้องร้องเป็นเงิน 3 ล้านบาท บางรายเจอประมาณ 1 ล้านกว่าบาท ตอนนี้เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยพยายามที่จะเจรจรต่อรองกับสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ชะลอการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิชุมชน แต่พอใกล้จะหมดอายุความ พนักงานอัยการพยายามที่จะเรียกร้องว่า จะหมดอายุความแล้ว ขอฟ้องก่อนได้ไหม พอถูกฟ้องร้องก็เป็นกลายเป็นเรื่องใหญ่โตมากสำหรับชาวบ้าน และทำอะไรได้ยากมาก

 

 

meeting 313

 

 

 

1. ประเด็นหลัก รากฐานของปัญหาที่เราเจอเรื่องการเข้าไม่ถึงทรัพยากรที่ดิน โดยหลักคือ “ความไม่เป็นธรรมทางโครงสร้าง” เราเจอประเด็นว่ากฎหมายที่ดินและป่าไม้ รวมทั้งการประกาศเขตพื้นที่ป่า และพื้นที่สาธารณประโยชน์ของรัฐ ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้สิทธิชุมชน และวิถีการทำมาหากินของท้องถิ่น คือ สังคมไทยไม่ยอมรับความจริงว่า มีชุมชนท้องถิ่นตั้งอยู่ในเขตป่า แต่พยายามที่จะไปใช้กฎหมายบอกว่า มันไม่มีชุมชนอยู่ และเมื่อมีชุมชนอยู่ก็ต้องไปขับเขาออก แต่ความเป็นจริงมันทำอย่างนั้นไม่ได้ ความจริงตือเขาตั้งอยู่ที่นั่น และไม่มีทางออกให้กับเขา

 

2. สังคมไทยไม่มีกฎหมายเรื่องการจำกัดการถือครองที่ดิน ดังนั้นในเมืองไทย ใครก็ถือครองที่ดินจำนวน 2 แสนไร่ได้ 5 หมื่นไร่ได้ อย่างสวนปาล์มที่สุราษฎร์ธานีครอบครองได้ถึง 30,000 – 50,000 – 100,000 ไร่ สามารถทำได้ จะถือครองที่ดินครึ่งค่อนประเทศยังทำได้ ไม่มีกฎหมายห้าม ขอให้มีเงินเท่านั่นเอง

 

3. เราไม่มีกฎหมายที่ก้าวหน้ามากพอ ในกฎหมายภาษีที่ดิน อัตราก้าวหน้า ซึ่งควรจะเป็นอัตราที่ก้าวหน้าตามขนาดการถือครองที่ดิน ตามมูลค่าการใช้ประโยชน์ที่ดิน และตามลักษณะของการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ทำลายสภาพแวดล้อมหรือไม่ คือเราไม่มีกฎหมายภาษีที่จะใช้เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะควบคุมไม่ให้คนถือครองที่ดินที่มากเกินไป แล้วคนที่ถือครองที่ดินมาก ควรจะต้องเอาสัดส่วน คือเอาภาษีมาจ่ายเพื่อเอามาตั้ง ธนาคารที่ดิน แล้วช่วยคนจน เรายังไม่สามารถที่จะตั้งกลไกมาตรการที่สามารถจะสร้างความเป็นธรรมเรื่องราวเหล่านี้ให้กับสังคมได้ กฏ กติกาในสังคม มันยังไม่ได้ถูกพัฒนาไปในทิศทางที่จะสร้างความเป็นธรรมในเรื่องการจัดการทรัพยากรการจัดการให้ดีพอ

 

4. การปฏิรูปที่ดินของหน่วยงานรัฐที่ผ่านมาล้มเหลว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 แล้วที่ผ่านมา ได้สร้างปัญหาภาระมากขึ้น เพราะว่าจำนวนการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบ เกิดขึ้นเยอะมาก ทั่วประเทศ ตอนนี้พยายามจะรวบรวม case ที่มีกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบทั่วประเทศ แล้วคนที่เพิกถอนได้มีเฉพาะอธิบดีกรมที่ดินคนเดียว ซึ่งอันนี้ก็เป็นกลไกที่ไม่เป็นธรรม ชาวบ้านเจอเรื่องที่ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบ เอามาฟ้องร้องกับชาวบ้าน นายทุนก็ใช้ช่องว่างว่า ออกโดยมิชอบก่อน ฟ้องก่อน ถอนทีหลัง เพราะถ้าชาวบ้านเป็นคดี ค่าใช้จ่ายก็จะสูงมาก

 

ข้อสุดท้าย รากฐานของปัญหาเรื่องความเป็นธรรมทางโครงสร้างคือ

 

5. อำนาจการจัดการเรื่องที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ยังถูกรวมศูนย์ในหน่วยงานรัฐ ไม่มีการกระจายอำนาจ ไม่เปิดช่องทางให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะของสังคม ดังนั้นถึงแม้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 และ ปี พ.ศ.2550 จะพูดว่า รับรองสิทธิชุมชน ตามมาตราที่ 66 แต่ในความเป็นจริง สังคมไทยยังอยู่บนพื้นฐานที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอุทยาน พ.ศ.2504 หากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เขาจะเติมมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เวลาผู้พิพากษาตัดสินคดีความ ก็ไม่ใช้มาตรา 66 เขาก็จะใช้กฎหมายป่าไม้ สู้คดีทีไร ชาวบ้านแพ้ทุกครั้ง น้อยมากที่จะชนะ เหตุแบบนี้เป็นเหตุที่ว่า เราก็ดูว่าชาวบ้านกลายเป็นเหยื่อของความไม่เป็นธรรมในทางโครงสร้าง ทั้งกฎหมายและนโยบาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา ศาล และเจ้าหน้าที่บังคับคดี ทุกขึ้นตอนใน 5 ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม มีปัญหาทั้งหมด

 

ชาวบ้านทำอะไรบ้าง ในพื้นที่ศึกษาที่เราคัดเลือก

 

1. เรื่องปฏิบัติการในระดับพื้นที่ เป็นเรื่องแรกที่ชาวบ้านต้องทำ ชาวบ้านพยายามรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายย่อย ๆ จากระดับชุมชน ขึ้นมาเป็นเครือข่ายในระดับจังหวัด และขึ้นมาเป็นเครือข่ายระดับภาค และขึ้นมาเป็นระดับชาติ มีความพยายามในการสร้างความเข้าใจ สร้างระบบกรรมสิทธิ์ร่วมในโฉนดชุมชน ทำความเข้าใจกับพี่น้องในพื้นที่ แล้วพยายามที่จะสร้างกฏกติกาในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำระบบเขตแบบยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย ที่สำคัญคือพยายามจะสร้างอำนาจการต่อรองให้กับท้องถิ่นว่า ตนเองสามารถที่จะเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดได้ สามารถจะจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบใหม่ กับส่วนราชการที่กดขี่ชาวบ้านอยู่

 

2. เรื่องที่ชาวบ้านพยายามทำอยู่คือ ชาวบ้านพยายามจะก้าวพ้นประเด็นปัญหาตนเอง แล้วเสนอนโยบายสาธารณะกับสังคม อย่างที่ชาวบ้านทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินทำอยู่คือ พยายามที่จะเสนอนโยบายเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม ด้วยการเสนอกับรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า ขอให้ปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดินทั้งระบบ ให้รับรองกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบส่วนร่วม ให้จัดตั้งธนาคารที่ดิน และให้ออกมาตรการภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า

 

3. เรื่องที่ชาวบ้านพยายามทำตอนนี้คือ เรื่องการปรับตัว ชาวบ้านเสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมายที่ดิน ป่าไม้ทั้งระบบ ตั้งแต่ กฎหมายปี พ.ศ.2484 พ.ร.บ.ป่าไม้ กฎหมายอุทยานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2504 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ปี พ.ศ.2507 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ.2535 แล้วเสนอให้มีกฎหมายรับรองสิทธิชุมชน รัฐบาลชุดปัจจุบัน เขียนไว้ในนโยบายรัฐบาล ข้อ 5.4 บอกว่า จะมีการผลักดันกฎหมายว่าด้วยการรับรองสิทธิชุมชน เราต้องตามดูว่าในความเป็นจริงจะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน

ชาวบ้านเสนอว่าให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมใหม่ ให้มีการปรับทัศนคติ อคติของบุคคลากรในองค์กรที่ทำใน 5 ขั้นตอนที่ว่ามาใหม่ทั้งหมด แล้วเสนอให้รัฐบาลยกเลิกและจำหน่ายคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชน คือ เพื่อสร้างความเป็นธรรมด้านคดีความให้กับคนจน เพื่อให้เกิดผลในทางรูปธรรม ตอนนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีนโยบายเขียนไว้ในข้อ 5.4  เขียนไว้ในนั้นว่า ต้องการผลักดันกฎหมายรับรองสิทธิชุมชน ชาวบ้านก็เสนอว่า ในเบื้องต้นขอให้รัฐบาลมีคำสั่งในทางบริหาร หรือมีมติ ครม.ที่แสดงเจตจำนงชัด ๆ ว่า รัฐบาลไม่ต้องการดำเนินคดีความกับเกษตรกรรายย่อยและคนจนไร้ที่ดิน ที่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิชุมชน เพราะว่าอนาคตข้างหน้า หากมีกฎหมายรับรองสิทธิชุมชนออกมาแล้ว ชาวบ้านก็จะอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น จัดการทรัพยากรได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แล้วคดีเหล่านี้ก็ไม่เป็นประโยชน์ในทางสาธารณะแต่ประการใด

 

4. ประการสุดท้ายที่ชาวบ้านพยายามทำอยู่ ก็คือ งานวิจัยชิ้นนี้ คือพยายามจะพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับแนวร่วม นักวิชาการ ยกระดับระบบกรรมสิทธิที่ดินแบบร่วม ให้ได้รับการยอมรับในสังคมไทย ทำงานความรู้ พยายามจะดึงนักวิชาการจากหลากหลายที่มาช่วยว่า เราต้องพัฒนาความรู้เรื่องธนาคารที่ดิน ภาษีที่ดิน ได้อย่างไรบ้าง เราจะมีแนวร่วมกับสื่อมวลชนได้อย่างไรบ้างเราจะทำให้ทัศนคติของชนชั้นกลางในสังคมไทย และบุคคลากร ข้าราชการ มีทัศนคติที่มีต่อคนจนได้อย่างไรบ้าง

 

นี่คือทั้งหมดทั้งมวลที่ชาวบ้านพยายามจะทำตั้งแต่เรื่องปฏิบัติการในพื้นที่ การพิสูจน์กับสังคม การเสนอนโยบายสาธารณะที่ก้าวพ้นจากตัวเอง และการทำงานเพื่อสร้างความรู้ให้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของสังคมไทยที่มีพวกเขาอยู่ในพื้นที่ตามชุมชนชนบท อันนี้ก็เป็นข้อมูลทั้งหมดที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน เขาทำงานจัดการขึ้นมา และขอบคุณอาจารย์ปิยะพร ด้วย ที่เป็นคนช่วยเตรียมเอกสารและงานวิจัยต่าง ๆ

 

อภิปราย แลกเปลี่ยน ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน

ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ถ้าหากเราจะพยายามผลักดันการแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานที่ว่า ให้เราสงสารคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเพื่อแก้ไขปัญหา ก็คงจะเห็นปัญหาแบบเดียวกัน หมายความว่า หากเราพูดเฉพาะคนในห้องนี้ ก็คงจะแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วเราจะแก้ปัญหาโดยการพยายามบอกให้สังคมรู้ว่า คุณควรจะสงสารคนยากจน คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เฉพาะวันนี้ก็พูดถึงปัญหาความทุกข์ยากเต็มไปหมด สังคมควรจะสงสารคนเหล่านี้ ดังนั้นเราต้องไปช่วยแก้ปัญหา ผมคิดว่า วิธีการนี้ เอาไปแก้ปัญหาไม่ได้ นี่เป็นประเด็นที่ผมอยากฝากเอาไว้ เพราะว่าวิธีการมองปัญหาของเราในการนำเสนอ ค่อนข้างยึดติดกับตัวปัญหา ซึ่งไม่ได้เสียหายอะไร ถ้าหากว่าเราจะยกระดับขึ้นไปมองให้มันกว้างกว่านั้น แต่ถ้าเราคลุกอยู่กับปัญหาตรงนั้นอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้มองภาพให้มันขยายออกไปในระดับที่มองเห็นความเชื่อมโยงมากขึ้น เราก็ไม่สามารถที่จะชวนให้สังคมหันมาเข้าใจในปัญหาของเราได้เท่าที่สมควร แล้วก็จะนำไปสู่การแก้ไขได้อย่างแท้จริง

 

สำหรับเรื่องที่ดิน ปัญหาที่เราพูดกันมา มันไม่ได้มีสาเหตุอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นทั้งหมด เหมือนอย่างสมัยก่อนมีคำพูดว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ผมก็สงสัย เนื่องจากผมศึกษาหมู่บ้านมานาน หมู่บ้านมีแต่ปัญหาทั้งนั้น แล้วจะมาบอกว่าคำตอบอยู่ที่หมู่บ้านได้อย่างไร ผมไม่เข้าใจ เพราะถ้าเป็นอย่างนี้คงแก้ปัญหาไม่ได้ เนื่องจากไปชุมชนไหนมันมีแต่ปัญหาทั้งนั้น แล้วบอกว่าคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน ปัญหาที่ดินก็เหมือนกัน ทุกหมู่บ้านมีแต่ปัญหา เพราะฉะนั้นเราจะลงไปเอาคำตอบจากตรงนั้น คงจะยาก

 

เสรีนิยมใหม่ มีความคิดอันหนึ่งที่สำคัญมากคือ “ตลาดเป็นกลไกที่ทำงานได้ด้วยตัวเอง และเป็นกลไกที่ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด”

 

ดังนั้น มุมมองที่ควรจะต่อยอดออกไป หรือเพิ่มให้เห็นภาพ คือ เราต้องเข้าใจว่าเวลานี้ สังคมไทยอยู่ในโลกของโลกาภิวัตน์ แล้วในโลกาภิวัตน์มันมีอุดมการณ์ที่สำคัญอันหนึ่งที่ครอบงำทุกคนอยู่ในเวลานี้คืออุดมการณ์ที่เรียกว่า “เสรีนิยมใหม่”เสรีนิยมใหม่ มีความคิดอันหนึ่งที่สำคัญมากคือ “ตลาดเป็นกลไกที่ทำงานได้ด้วยตัวเอง และเป็นกลไกที่ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด” ดังนั้นการจัดการทรัพยากรใดก็ตาม ถ้าหากว่ามีกลไกตลาดเป็นตัวช่วยสั่งการแล้วทุกอย่างจะดีเอง และมีประสิทธิภาพ อันนี้มันเป็นชุดความรู้ที่ผู้คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบปัจจุบัน ที่เรารับข้อมูลข่าวสารอยู่นี้ มักจะถูกชุดความรู้นี้ทำให้เราคิดไปอย่างนั้น ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า วิธีการที่จะจัดการอะไรต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหา เช่น เวลาเราปฏิรูปที่ดิน เราก็ปฏิรูปโดยการแจก สปก.โดยให้สิทธิ์กับปัจเจกบุคคล เพราะเราคิดว่า การแจกแบบนี้มันเหมาะสำหรับที่จะทำให้กลไกตลาดทำงานดีขึ้น เป็นต้น แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า อุดมการณ์ที่เชื่อในกลไกตลาดว่าทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุด มันกำลังทำงานอย่างดีมากในสังคมไทย

 

อีกตัวอย่าง การที่คุณพงษ์ทิพย์บอกว่า พื้นที่ที่ชาวบ้านตั้งรกรากอยู่ในป่า ภายหลังเมื่อรัฐประกาศเป็นเขตป่าสงวน ชาวบ่นก็ผิดกฎหมาย แต่ในความจริงการปฏิบัติมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผมยกตัวอย่าง ถ้าชาวปกาเกอญอถ้าทำไร่ทำนาอยู่ในป่า เขาโดนจับ แต่ถ้าปลูกยางพารา ไม่โดน พูดง่าย ๆ คือมีการเลือกปฏิบัติ ถ้าคุณปลูกอะไรเอาไว้บริโภคกินเอง ผิดกฎหมาย แต่ถ้าคุณปลูกอะไรที่ตอบสนองต่อตลาด ได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจดี ถือว่าทำได้ แม้แต่พื้นที่ที่หวงห้ามเหล่านั้น ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องว่าใครก็ตามไปอยู่ในเขตอุทยานหรือเขตป่าสงวนแล้วผิดหมด มันไม่ใช่ มันขึ้นอยู่กับว่าการปลูกนั้นมันไม่ตรงนโยบาย ดังนั้นปัญหามันไม่ใช่เรื่องว่าผิดกฎหมาย แต่มันเป็นปัญหาว่ามันไม่สอดคล้องกับนโยบาย ไปปลูกพืชที่ไม่สอดคล้องนโยบาย เขาก็กล่าวหาว่าทำโลกร้อน เพราะเราไปปลูกอะไรที่ไม่ทำให้ได้เงินขึ้นมา

 

ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม มันไม่ใช่เป็นเรื่องของการมีกลไกกฎหมายเป็นตัวอุปสรรคหรือขัดขวาง แต่มันเป็นปัญหาว่าเราถูกครอบงำด้วยความคิดเรื่องกลไกตลาด

 

ดังนั้นประเด็นอยู่ตรงนี้ มันแสดงชัดเจนว่า เขายึดว่า “ตลาด” ว่ามันเป็นกลไกที่สำคัญที่สุด ดังนั้นไม่ว่าคุณจะทำอะไรแล้วช่วยให้ตลาดทำงาน ผิดกฎหมายไม่ว่า ไม่จับ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องกฎหมายที่เป็นปัญหา มันเป็นเรื่องที่ว่าคุณทำให้ตลาดมันทำงานได้หรือไม่ นี่เป็นประเด็นที่ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตให้เห็นว่า ถ้าเรามองดูปัญหาในภาพใหญ่ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า  ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม มันไม่ใช่เป็นเรื่องของการมีกลไกกฎหมายเป็นตัวอุปสรรคหรือขัดขวาง แต่มันเป็นปัญหาว่าเราถูกครอบงำด้วยความคิดเรื่องกลไกตลาดว่าทำงานได้ดีที่สุด

 

ดังนั้นวิธีการที่จะชักจูงให้ผู้คนมาเข้าใจปัญหาเหล่านี้ คงจะไม่ใช่วิธีการที่มาบอกว่า มันไม่เป็นธรรม หรือเป็นธรรมอะไรต่าง ๆ  ประการแรกเราต้องบอกว่า “ตลาดมันล้มเหลว” ยกตัวอย่าง เราจะพบว่าตอนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ปี พ.ศ.2540 เราจะเห็นว่าที่ดินถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าถึง 30-40 ล้านไร่ แล้วที่ดินเหล่านี้ก็กลายเป็น NPL เพราะไปกู้ยืมเงินมา แล้วกลายเป็นหนี้เน่า อันนี้แสดงให้เห็นว่า การที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจล้มเหลวในปี 40 มันไม่ใช่ปัญหาของชุมชน ปัญหากฏหมาย มันเป็นปัญหาของการที่เราปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างไร้ขอบเขต ทำเกิดการเก็งกำไรราคาที่ดิน แล้วทำให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่มีการเอาไปใช้ประโยชน์ ทำให้เศรษฐกิจของเราล้มเหลวลง กลายเป็นหนี้เน่าต่าง ๆ แล้วลองคิดดูว่า ที่ดิน 30-40 ล้านไร่ที่ปล่อยรกร้างว่างเปล่ามีจำนวนมหาศาล เพราะว่าที่ดินในประเทศไทยมันมีแค่ 320 ล้านไร่ แล้วตอนนี้เหลือเป็นป่าไม่ถึง 100 ล้านไร่ แต่เราปล่อยให้ที่ดิน 30-40 ล้านไร่ว่างเปล่า ไม่เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็เลยผลักดันให้คนไปบุกรุกที่ป่าเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ ๆ ที่เป็นการเกษตรที่ดี แต่เราดันปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า อันนี้มันเป็นปัญหาของการที่เราปล่อยให้กลไกตลาด กำกับและควบคุมการจัดสรรทรัพยากรในประเทศด้วยวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้

 

การปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ต้องจัดการด้วย “หลักการเชิงซ้อน” มากขึ้น นั่นก็หมายความว่า “จัดการด้วยวิธีคิดหลายแบบ” เข้ามาช่วยถ่วงดุล

 

ดังนั้นการที่เราจะไปโน้มน้าวให้ผู้คนมาช่วยเราในการแก้ปัญหาของการที่คนจนไม่มีที่ดินทำกิน ไม่ใช่ไปบอกว่ามันเป็นปัญหาเรื่องความเป็นธรรมอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่เราต้องบอกว่า กลไกตลาดอย่างเดียวที่ใช้อยู่นี้ มันไม่มีทางที่จะทำให้เกิดการพัฒนาหรือเกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เราจะเรียกว่าเป็นปัญหาความไม่เป็นธรรม แต่ปัญหาความไม่เป็นธรรมนั้น มันเกิดมาจากการที่ว่าเราปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเดียว ดังนั้นแก้ไขปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือว่า เราจะต้องไม่ใช่ใช้หลักการที่ผมขอเรียกว่า เป็นการจัดการเชิงเดี่ยว คือ การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเดียว แต่ต้องจัดการด้วย “หลักการเชิงซ้อน” มากขึ้น นั่นก็หมายความว่า “จัดการด้วยวิธีคิดหลายแบบ” เข้ามาช่วยถ่วงดุลหรือคานซึ่งการและกัน ถึงจะทำให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ซึ่งตรงนี้ก็หมายความว่า เราต้องการกลไกหลายอย่างซึ่งตรงส่วนที่เป็นเรื่องกลไกอื่น ๆ คุณพงษ์ทิพย์ก็พูดไปบ้างแล้ว

 

สำหรับกลไกที่สำคัญอื่น ๆ  หมายความว่า เราคงจะใช้กลไกตลาดหรือกลไกทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องใช้ “กลไกเชิงสถาบัน” หรือกลไกทางสังคมอื่น ๆ มาช่วย ซึ่งอาจจะหมายถึงการใช้กลไกเศรษฐกิจอีกบางอย่างที่เกี่ยวข้องกัน เช่น กลไกภาษี อัตราภาษีที่ดินก้าวหน้า และกลไกต่าง ๆ จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่แค่นั้นไม่พอ  มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกทางสังคมในรูปแบบอื่น ๆ นั่นก็หมายความว่าจะต้องก่อให้เกิดการผลักดันให้มีการจัดการเชิงซ้อนในรูปแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกส่วนใหญ่ เราจะใช้ในเฉพาะเรื่องของการให้สิทธิ์ เน้นกลไกของการให้สิทธิ์ชนิดที่เป็นกรรมสิทธิ์ สิทธิที่เป็นเจ้าของ ควรเน้นเฉพาะการให้สิทธิ์ เช่นว่า แม้แต่สิทธิชุมชน ก็เป็นสิทธิของความเป็นเจ้าของโดยไม่ใช่ปัจเจก ดังนั้นกลไกที่สำคัญอื่น ๆ ที่น่าจะมาใช้เพิ่มเติมทางสังคม คือ ผมขอเรียกว่า “กลไกการจัดการการใช้” ไม่ใช่กลไกการให้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของ การจัดการการใช้หมายความว่า ปัญหาในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดินหรือทรัพยากรโดยทั่วไป คือ ปัญหาในเรื่องของ”การใช้” ทั้งนั้น

 

ในภาคเช้าเราพูดกันถึงว่า เรื่องเหมืองแร่ ก็เป็นการใช้ที่ดิน เรื่องอุตสาหกรรม ก็ใช้ที่ดิน เรื่องพลังงาน ก็เป็นการใช้ที่ดิน ดังนั้นปัญหาของทรัพยากรมันเป็นปัญหาเรื่องของ”การใช้” แต่วิธีการแก้ปัญหาของเรา กลายเป็นปัญหาเรื่องของการให้กรรมสิทธิ์ ดังนั้นปัญหาไปทางหนึ่ง วิธีแก้ไปอีกทางหนึ่ง แล้วมันจะแก้อย่างไร มันแก้ไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่การใช้ ดังนั้น” การจัดการการใช้” จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการพูดถึงมากขึ้น แล้วที่สำคัญที่สุดการจัดการการใช้ จะต้องใช้กลไกหลายอย่างซ้อนทับกัน ผมพูดอย่างนี้อาจจะยังไม่ชัดเจน อันนี้เราเรียกว่า “กลไกเชิงซ้อน”

 

“กลไกเชิงซ้อน” เรามีการใช้บ้างแล้ว แต่เราไม่ได้ใช้กันทุกอย่าง เราใช้เฉพาะเรื่อง อย่างเช่น ผังเมือง เรานำกลไกเชิงซ้อนมาใช้ หมายความว่า ในผังเมืองสมมติว่าคุณเป็นเจ้าของที่ดิน แล้วพื้นที่ของคุณตกอยู่ในพื้นที่สีเขียว คุณก็ไม่สามารถตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้ ก็หมายความว่า มันมีกฎหมายไปควบคุมการใช้ของคุณ แต่ทีนี้ถ้าเราจะใช้กับพื้นที่ทั่วประเทศ เราจะเอาหลักการแบบเดียวกับการจัดการผังเมือง หรือในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เขตเมืองอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องใช้กลไกเชิงซ้อน หมายความว่า จะต้องให้มีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม หรือภาคชุมชน เข้ามาร่วมในการจัดการเชิงซ้อนมากยิ่งขึ้น ไม่อย่างนั้นแล้ว ใครนึกจะมาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ข้างบ้านเราก็ทำได้ เพราะว่าอำนาจการตัดสินใจมันอยู่ที่ส่วนกลาง ดังนั้นการจัดการการใช้โดยการให้ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันมีรูปแบบอะไรบ้าง มันมีหลายรูปแบบทับซ้อนกัน เข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลในเรื่องการจัดการการใช้ให้มากยิ่งขึ้น ตรงนี้ที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่ามันจะเข้ามาถ่วงดุลการจัดการของตลาด ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เรื่องของการเรียกร้องให้สังคมสงสาร เพราะว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่เป็นเรื่องที่ว่า ถ้าเราอยากที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น จะต้องการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้กลไกมากกว่ากลไกการตลาดมาช่วยเราทำงานมากขึ้น อันนี้เป็นประเด็นที่ผมอยากฝากไว้ เพราะว่าถ้าเราไม่ใช้กลไกอื่นเข้ามาเพิ่ม ไม่มีทางที่เราจะพัฒนาได้ก้าวหน้าไปกว่านี้ เพราะการใช้ทรัพยากรของเรามันไร้ประสิทธิภาพ นอกจากจะไร้ความเป็นธรรมแล้วยังไร้ประสิทธิภาพอย่างมากมายและล้มเหลว เราปล่อยที่ดินรกร้างว่างเปล่ามากมายดังที่ยกตัวอย่างมา และที่จริงแล้วการใช้ทรัพยากรที่ไร้ประสิทธิภาพมีมากมายมหาศาล

 

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องนำกลไกอื่น นอกเหนือจากกลไกการตลาด เข้ามาช่วย ซึ่งผมขอเรียกว่า “กลไกเชิงซ้อน” หมายความว่า ผมเองก็ไม่ได้บอกว่า”ตลาด”มันไม่ดีหรือเสียหายหมด แต่ว่ามันใช้อย่างเดียวไม่ได้ มันเชิงเดี่ยว มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหากลไกอื่น ๆ ซึ่งเรียกว่าเป็น “กลไกเชิงสถาบัน” ทางด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม การเข้าใจความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ เข้ามาเสริม ซึ่งแน่นอนว่ามันใช้ทั้งประเทศไม่ได้ มันจะต้องมีการศึกษาวิจัยมากขึ้น เพื่อที่จะรู้ว่าแต่ละที่ แต่ละจุด แต่ละทรัพยากร จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องซ้อนอย่างไร มันไม่มีคำตอบสำเร็จรูป เหมารวมไม่ได้ ดังนั้นตรงนี้จึงต้องการองค์ความรู้มหาศาลในการที่เราจะต้องวิจัยกันต่อไป ผมให้แต่เพียงแนวคิดเท่านั้น แต่ไม่สามารถจะบอกว่า คำตอบเป็นอย่างไร เพราะผมไม่มีคำตอบ

 

พงษ์ทิพย์ สำราญจิตร : เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท)

http://social-agenda.org/article/254